#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ปัญญาญาณที่ล้ำลึก.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๕ ) จะขอแบ่งออกเป็น ๗ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ผู้รู้แต่โบราณลึกซื้งละเอียดอ่อน มีปัญญาญาณสุดหยั่งคะเน สุดบรรยายได้"

      ผู้รู้ที่แท้จริงและสูงสุด ถ้าในพระพุทธศาสนา ก็คือ พระอรหันต์ ซึ่งมีปัญญาญาณที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนสุดหยั่งคะเน พระอรหันต์ไร้ร่องรอย เปรียบดั่งนกที่บินไปในอากาส ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้รู้มีปัญญาญาณสุดหยั่งคะเน สุดบรรยายได้.

      #ประโยคที่ ๒ "เราทำได้อย่างมากก็อธิบายรูปร่างหน้าตาว่า พวกเขาระแวดระวัง ราวคนข้ามธารน้ำแข็ง"

      เดินไปบนธารน้ำแข็งอาจลื่นล้มได้ง่าย ดังนั้นคนที่เดินข้ามธารน้ำแข็ง ต้องระแวดระวังเป็นพิเศษ ลักษณะของผู้มีปัญญาญาณ ผู้ประจักษ์แจ้งความว่าง ซึ่งเป็นสัจธรรมแห่งเต๋า เป็นธรรมชาติละเอียดอ่อนล้ำลึก การแสดงออกทางกาย วาจา มีความสุขุม ท่านจึงเปรียบกับคนที่กำลังข้ามธารน้ำแข็ง.

      #ประโยคที่ ๓ "ตื่นตัวราวกับนักรบขณะอยู่ในเขตศัตรู สำรวมราวอาคันตุกะ"

      ในสนามรบซึ่งมีข้าศึกรอบด้าน ผู้ที่ประมาทก็ต้องเป็นเหยื่อของอาวุธฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับผู้ไม่ประมาท ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ก็ย่อมรอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรูได้, ลักษณะของอาคันตุกะมักจะสำรวมระมัดระวัง มีความเกรงอกเกรงใจ ผู้มีสติปัญญาที่ลึกซึ้ง เช่น ระดับอรหันต์ มีความสุขุม เปรียบดั่งอุปมาดังกล่าว.

      #ประโยคที่ ๔ "โอนอ่อนผ่อนตามราวน้ำแข็งละลาย เหลาได้ราวกับดุ้นไม้ กวเางขวางพร้อมรับได้ราวกับหุบเขา โปร่งใสราวกับน้ำในแก้ว"

      การแสดงออกทางกาย วาจาของผู้เห็นแจ้งสัจธรรมความจริงแล้ว ท่านเปรียบดั่งน้ำแข็งที่กำลังละลาย เปรียบด้วยการเหลาดุ้นไม้ เปรียบเหมือนความกว้างของหุบเขา และเปรียบกับความโปร่งใสของน้ำบริสุทธิ์ที่อยู่ในแก้วสะอาด.

      #ประโยคที่ ๕ "เจ้ามีความอดทนรอจนฝุ่นและโคลนตมแห่งความคิดตกตะกอนและจนน้ำที่ขุ่นกลับใสได้หรือเปล่า"

      สิ่งที่เรียกว่า ความคิด ท่านเปรียบเหมือนกับฝุ่นและโคลนตม จิตใจที่วุ่นวายสับสนก็เพราะความคิดปรุงแต่งเป็นตัวเหตุ เรียกว่า สมุทัย ผู้ที่มีความอดทนรอจนฝุ่นและโคลนตมแห่งความคิดหมดสิ้นไป ก็คือ ผู้ที่เห็นแจ้งความว่าง (เต๋า) แล้ว ต้องรอได้คอยได้จนสิ้นกิเลสโดยถาวร.

      #ประโยคที่ ๖ "เจ้านิ่งรอจนอุบัติการณ์ที่เหมาะเจาะเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ได้หรือเปล่า"

      เมื่อเห็นแจ้งต่อความว่าง ประจักษ์ชัดต่อสภาวะแห่งเต๋า อย่าเข้าใจว่า นั่นคือได้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าตามหลักของพุทธศาสนา เรียกว่า ได้แค่ดวงตาเห็นธรรม เช่น ระดับโสดาบันหรือสกทาคามีหรืออนาคามี ท่านจึงกล่าวว่า นิ่งรอจนอุบัติการณ์ที่เหมาะเจาะเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติได้หรือเปล่า.

      #ประโยคที่ ๗ "ผู้รู้ไม่เที่ยวเติมเต็มใดๆ ไม่แสวงหา ไม่คาดหวัง เธอเพียงแค่อยู่ที่นี่ (Presence) และยอมรับทุกสิ่งตามที่มันเป็น"

      การพยายามเติมให้เต็ม การดิ้นรนแสวงหา และการคาดหวังลมๆ แล้งๆ เป็นลักษณะของตัณหา เป็นกิริยาอาการของความคิดปรุงแต่ง สัจธรรมแท้เป็นสภาวะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่เกินไม่ขาด ฉะนั้น ไม่ต้องเติมเต็ม ไม่ต้องแสวงหา และไม่ต้องคาดหวังใดๆ. (๑๔ ก. ย. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

83552

Character Limit 400