#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง. “สำเร็จกิจการให้ถอนตัวล่าถอย”
เรื่อง. “สำเร็จกิจการให้ถอนตัวล่าถอย”
สุภาษิตนี้ กำลังบอกอะไรเรา? ท่านทั้งหลาย ลองสังเกตตนว่าท่านวางแผนชีวิตอย่างไร? และมีอะไรเป็นเป้าหมายของชีวิต เช่น เงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง อื่นๆ แล้วท่านประสงค์จะสำเร็จกิจการถอนตัวล่าถอยเช่นใดแบบไหน?
ขออธิบายเปรียบเทียบสุภาษิตนี้ ในมุมของพุทธศาสนา คือพระพุทธองค์ท่านสำเร็จกิจการถอนตัวล่าถอยเช่นใด? พระองค์ท่านเกิดในตระกูลวรรณะกษัตริย์ซึ่งตามคำทำนายว่า หากท่านไม่ได้ออกบวช ท่านจะได้ครองแผ่นดินทั้งสี่ทิศจรดมหาสมุทร (ซึ่งนับเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่มหาศาล) จนในวันหนึ่งพระองค์ทรงพบกับสมณะทั้ง ๔ ได้แก่ คนแก่ คนเจ็บ คนตาย และสมณะ อันเป็นเหตุให้พระองค์ทรงออกผนวช นี้คือสิ่งที่ท่านได้ทำให้สำเร็จกิจการเป็นสิ่งแรก คือรู้สึกว่าชีวิตแห่งความเป็นเจ้าชายนั้นสำเร็จสำหรับพระองค์แล้ว เมื่อท่านพิจารณาดังนี้ท่านจึงออกบวชเพื่อแสวงหากิจการใหม่ กล่าวคือการจัดการกับกิเลส จัดการกับความทุกข์ เพื่อหมดทุกข์ ซึ่งระหว่างที่ท่านพากเพียรอยู่นั้น ท่านได้สำเร็จถึง “อรูปฌาณขั้นที่สี่ คือเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน (มีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่)” ท่านสามารถทำได้สำเร็จถึงขนาดนั้น
ในที่สุดท่านพบว่าสิ่งนี้ก็ยังไม่ใช่ จากนั้นท่านจึงไปเพียรหาความสำเร็จด้วยการทรมานกาย เช่น กัดพระทนต์, กั้นลมหายใจ ,และอดอาหาร จนถึงขนาดนำมือมารูปที่หน้าท้องสัมผัสได้ถึงกระดูกสันหลัง เหตุที่ทรมานเช่นนี้ เพราะในยุคนั้น มีความเชื่อว่า หากท่านใดทรมานตนให้เจ็บที่สุดแล้ว ท่านนั้นจะไม่พบเจอสิ่งกระทบกระเทือนในระบบแห่งการสัมผัสทั้งปวงอีกตลอดไป
ต่อมาพระองค์ทรงเห็นว่า นี่ก็ยังมิใช่วิธีการที่ถูกต้อง จนพระองค์ได้ตรัสรู้อริยมรรคมีองค์ ๘ จึงถือได้ว่าท่านสำเร็จกิจการเรียบร้อยแล้ว แต่วิธีการถอนตัวของท่าน ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่แค่ถอนร่างกายออกมาจากหน้าที่การงาน แต่พระองค์มีการถอนตัวที่แตกต่าง คือการทิ้งอัตตาหมดสิ้น เมื่อหมดอัตตาแล้ว นั่นจึงถือเป็น การถอนตัวล่าถอยที่แท้จริง
เมื่อเห็นเช่นนี้ เราท่าน ที่นั่งในที่นี้ พึงดูตนเถิดว่า ได้ตั้งวัตถุประสงค์ถึงการเกษียณอายุงาน และจะทำการถอนตัวล่าถอย แบบใด-เมื่อใด? ซึ่งหากท่านคิดฉาบฉวยไม่จริงจัง ซึ่งจัดว่ายังมีอัตตาอยู่ก็นับว่าเป็นการไม่ง่ายเลย แต่สำหรับผู้ที่ตั้งใจ ในเรื่องการถอนตัวล่าถอยเช่นนี้ กลับอาจเป็นการง่าย
ดังนั้น ไม่ว่าในมุมใด การถอนตัวล่าถอย ต้องทำให้สำเร็จด้วยดี ต้องเตรียมตัวเตรียมใจอย่างเต็มที่ ซึ่งเราท่านถึงพร้อมแค่ไหน หากซึ่งวินาทีที่เราต้องตาย นับว่าเป็นวินาทีที่ต้องถอนตัวล่าถอยครั้งสุดท้าย แต่หากในมุมของการถอนตัวทางพุทธศาสนาท่านสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ คือ “การละอัตตา” ให้หมดลงไป
ท้ายที่สุดนี้ ขอฝากสุภาษิตนี้ “สำเร็จกิจการให้ถอนตัวล่าถอย” ไว้พิจารณาให้ถ่องแท้ เนื่องด้วยที่กล่าวมามิใช่เพียงทฤษฎี ซึ่งทุกท่านสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง พึงใช้การพิจารณาว่า เมื่อใกล้ถึงแล้วจะถอนตัวเช่นไร -แบบใด-สำหรับการถอนตัวล่าถอยนี้.
เรียบเรียงธรรมบรรยาย โดย ลลิต มณีธรรม.