#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ปัญญาญาณที่ล้ำลึก.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๕ ) จะขอแบ่งออกเป็น ๗ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ผู้รู้แต่โบราณลึกซื้งละเอียดอ่อน มีปัญญาญาณสุดหยั่งคะเน สุดบรรยายได้"

      ผู้รู้ที่แท้จริงและสูงสุด ถ้าในพระพุทธศาสนา ก็คือ พระอรหันต์ ซึ่งมีปัญญาญาณที่ลึกซึ้งละเอียดอ่อนสุดหยั่งคะเน พระอรหันต์ไร้ร่องรอย เปรียบดั่งนกที่บินไปในอากาส ไม่ทิ้งร่องรอยไว้ให้เห็น ท่านจึงกล่าวว่า ผู้รู้มีปัญญาญาณสุดหยั่งคะเน สุดบรรยายได้.

      #ประโยคที่ ๒ "เราทำได้อย่างมากก็อธิบายรูปร่างหน้าตาว่า พวกเขาระแวดระวัง ราวคนข้ามธารน้ำแข็ง"

      เดินไปบนธารน้ำแข็งอาจลื่นล้มได้ง่าย ดังนั้นคนที่เดินข้ามธารน้ำแข็ง ต้องระแวดระวังเป็นพิเศษ ลักษณะของผู้มีปัญญาญาณ ผู้ประจักษ์แจ้งความว่าง ซึ่งเป็นสัจธรรมแห่งเต๋า เป็นธรรมชาติละเอียดอ่อนล้ำลึก การแสดงออกทางกาย วาจา มีความสุขุม ท่านจึงเปรียบกับคนที่กำลังข้ามธารน้ำแข็ง.

      #ประโยคที่ ๓ "ตื่นตัวราวกับนักรบขณะอยู่ในเขตศัตรู สำรวมราวอาคันตุกะ"

      ในสนามรบซึ่งมีข้าศึกรอบด้าน ผู้ที่ประมาทก็ต้องเป็นเหยื่อของอาวุธฝ่ายตรงข้าม แต่สำหรับผู้ไม่ประมาท ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา ก็ย่อมรอดพ้นจากเงื้อมมือของศัตรูได้, ลักษณะของอาคันตุกะมักจะสำรวมระมัดระวัง มีความเกรงอกเกรงใจ ผู้มีสติปัญญาที่ลึกซึ้ง เช่น ระดับอรหันต์ มีความสุขุม เปรียบดั่งอุปมาดังกล่าว.

      #ประโยคที่ ๔ "โอนอ่อนผ่อนตามราวน้ำแข็งละลาย เหลาได้ราวกับดุ้นไม้ กวเางขวางพร้อมรับได้ราวกับหุบเขา โปร่งใสราวกับน้ำในแก้ว"

      การแสดงออกทางกาย วาจาของผู้เห็นแจ้งสัจธรรมความจริงแล้ว ท่านเปรียบดั่งน้ำแข็งที่กำลังละลาย เปรียบด้วยการเหลาดุ้นไม้ เปรียบเหมือนความกว้างของหุบเขา และเปรียบกับความโปร่งใสของน้ำบริสุทธิ์ที่อยู่ในแก้วสะอาด.

      #ประโยคที่ ๕ "เจ้ามีความอดทนรอจนฝุ่นและโคลนตมแห่งความคิดตกตะกอนและจนน้ำที่ขุ่นกลับใสได้หรือเปล่า"

      สิ่งที่เรียกว่า ความคิด ท่านเปรียบเหมือนกับฝุ่นและโคลนตม จิตใจที่วุ่นวายสับสนก็เพราะความคิดปรุงแต่งเป็นตัวเหตุ เรียกว่า สมุทัย ผู้ที่มีความอดทนรอจนฝุ่นและโคลนตมแห่งความคิดหมดสิ้นไป ก็คือ ผู้ที่เห็นแจ้งความว่าง (เต๋า) แล้ว ต้องรอได้คอยได้จนสิ้นกิเลสโดยถาวร.

      #ประโยคที่ ๖ "เจ้านิ่งรอจนอุบัติการณ์ที่เหมาะเจาะเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติ ได้หรือเปล่า"

      เมื่อเห็นแจ้งต่อความว่าง ประจักษ์ชัดต่อสภาวะแห่งเต๋า อย่าเข้าใจว่า นั่นคือได้ถึงที่สุดแล้ว ถ้าตามหลักของพุทธศาสนา เรียกว่า ได้แค่ดวงตาเห็นธรรม เช่น ระดับโสดาบันหรือสกทาคามีหรืออนาคามี ท่านจึงกล่าวว่า นิ่งรอจนอุบัติการณ์ที่เหมาะเจาะเกิดขึ้นมาเองตามธรรมชาติได้หรือเปล่า.

      #ประโยคที่ ๗ "ผู้รู้ไม่เที่ยวเติมเต็มใดๆ ไม่แสวงหา ไม่คาดหวัง เธอเพียงแค่อยู่ที่นี่ (Presence) และยอมรับทุกสิ่งตามที่มันเป็น"

      การพยายามเติมให้เต็ม การดิ้นรนแสวงหา และการคาดหวังลมๆ แล้งๆ เป็นลักษณะของตัณหา เป็นกิริยาอาการของความคิดปรุงแต่ง สัจธรรมแท้เป็นสภาวะที่สมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่เกินไม่ขาด ฉะนั้น ไม่ต้องเติมเต็ม ไม่ต้องแสวงหา และไม่ต้องคาดหวังใดๆ. (๑๔ ก. ย. ๖๖)

1 Comments

ณฐพล บุญรมย์
ผมชอบครับแต่ต้องอ่านสองหน ทีแรกผมอ่านสักกายทิฐิ

Leave your comment

65773

Character Limit 400