#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ผู้ควรดูแลสรรพสิ่ง.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๓) จะแบ่งออกเป็น ๙ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ความสำเร็จอันตรายเท่ากับความล้มเหลว หมายความว่าอย่างไร"

      คนส่วนมากจะมองว่า ความสำเร็จเป็นสิ่งที่พึงประสงค์ ส่วนความล้มเหลวเป็นเรื่องแย่ๆ ที่ไม่ควรมี เพราะเขามองแค่ภายนอก แต่ถ้ามองที่จิตใจก็จะเห็นว่า ยึดติดในความสำเร็จก็ปรุงแต่ง ยึดติดในความล้มเหลวก็ปรุงแต่ง ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า เป็นอันตรายเท่ากัน.

      #ประโยคที่ ๒ "บันไดไม่ว่าจะเดินขึันหรือเดินลง ก็ล้วนสั่นคลอน"

      เดินขึ้นเดินลง ภาษาธรรม ก็คือ โลกธรรมแปด เดินขึ้น หมายถึง อิฏฐารมณ์สี่ ได้แก่ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข, เดินลง หมายถึง เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์, ยึดติดในอิฏฐารมณ์ ก็ทำให้จิตใจสั่นคลอน ยึดติดในอนิฏฐารมณ์ จิตใจก็สั่นคลอนเหมือนกัน.

      #ประโยคที่ ๓ "ยืนสองเท้าบนพื้นดิน ย่อมได้ดุลดีกว่า หมายความว่าอย่างไร"

      การทำงานใหญ่จะให้ประสบความสำเร็จโดยที่ไม่พึ่งใครหรือไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใดเลยนั้น เป็นเรื่องยาก แต่ถ้าช่วยกันคิดช่วยกันทำ แม้จะเป็นงานใหญ่งานยากแค่ไหน ก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่ายดาย ท่านจึงกล่าวว่า ยืนสองเท้าบนพื้นดินย่อมได้ดุลดีกว่า.

      #ประโยคที่ ๔ "ความหวังเลวร้ายพอๆ กับความกลัว ทั้งความหวังและความกลัวต่างเป็นความคิดที่โผล่ออกมาจากการปักใจเชื่อว่า มีตัวตนของเจ้าที่เป็นบุคคล"

      ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งความหวังและความกลัว มีความเลวร้ายพอๆ กัน ในขณะที่หวังสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (หวังด้วยอวิชชา) ความรู้สึกกลัวจะผิดหวังก็แฝงอยู่ด้วย.

      #ประโยคที่ ๕ "ถ้าไม่มีตัวตนของเจ้าที่เป็นบุคคล แล้วเจ้าจะต้องกลัวอะไร"

      ที่มีความกลัวแฝงอยู่ในความหวัง ก็เพราะมีความรู้สึกเป็นตัวตน (อัตตา) แต่ถ้าไร้ความรู้สึกเป็นตัวตน จะหวังสิ่งใดก็หวังด้วยสติปัญญา, ความรู้สึกผิดหวัง ความรู้สึกสมหวังก็จะไม่มี ท่านจึงกล่าวว่า เมื่อไม่มีตัวตน แล้วจะกลัวอะไร.

      #ประโยคที่ ๖ "จงมองโลกให้เห็นว่า เป็นตัวเจ้าเอง"

      ผู้มีสติปัญญาถึงที่สุด ย่อมไม่แบ่งแยกระหว่างตนเองกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ เรียกว่า เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ ไม่มีเขาไม่มีเรา ไม่มีภายนอกไม่มีภายใน เพราะอะไร ก็เพราะไม่มีความรู้สึกว่า เป็นอัตตาตัวตน ท่านจึงกล่าวว่า จงมองโลกให้เห็นว่าเป็นตัวเจ้าเอง.

      #ประโยคที่ ๗ "จงเชื่อมั่นในวิถีที่สรรพสิ่งเป็นอยู่"

      การไม่เชื่อมั่น ก็คือ ความลังเล (วิจิกิจฉา) ที่ลังเลเพราะอะไร ก็เพราะความไม่เห็นแจ้งตามที่เป็นจริงต่อสรรพสิ่งทั้งมวล แต่ผู้ที่เปี่ยมอยู่ด้วยสติปัญญา ย่อมมีความเชื่อมั่นในวิถีแห่งสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง ไม่มีความยินดีพอใจและไม่ยินร้ายปฏิเสธ กลมกลืนไปกับสิ่งทั้งปวง.

      #ประโยคที่ ๘ "จงรักโลกเหมือนรักตัวเจ้าเอง"

      คำว่า รักในที่นี้ไม่ใช่รักแบบยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของเราของฉัน แต่เป็นความรักที่บริสุทธิ์ เป็นความรักที่เปี่ยมอยู่ด้วยสติปัญญา ผู้ที่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมให้เสื่อมโทรม ทำลายธรรมชาติต่างๆ ให้เสื่อมเสียโดยไม่จำเป็น แสดงว่า จิตใจของเขาขาดความรัก ฉะนั้นจงรักโลกเหมือนรักตัวเอง.

      #ประโยคที่ ๙ "เมื่อนั้นแหละเจ้าจึงจะสมควรเป็นผู้ดูแลสรรพสิ่งได้"

      ความเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติอันหลากหลาย ความกลมกลืนไปกับสรรพสิ่งอันงดงามอย่างไร้ตำหนิ ท่านกล่าวว่า เมื่อนั้นแหละเจ้าจึงจะสมควรเป็นผู้ดูแลสรรพสิ่งได้ เพราะเปี่ยมอยู่ด้วยความรักที่บริสุทธิ์ จึงกลายเป็นผู้โอบอุ้มด้วยความจริงใจ. (๒๕ ส. ค. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

79422

Character Limit 400