#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#ไร้รูป ไร้นาม.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๔) จะขอแบ่งออกเป็น ๗ ประโยค ดังนี้:-
#ประโยคที่ ๑ "มองก็ไม่เห็น ฟังก็ไม่ได้ยิน"
ที่ว่า มองก็ไม่เห็น หมายถึง ไม่เห็นสิ่งปรุงแต่ง เช่น ไม่เห็นความคิดปรุงแต่ง (สมุทัย) ไม่เห็นความรู้สึกปรุงแต่ง (ทุกข์); ที่ว่า ฟังไม่ได้ยิน ก็มีลักษณะเดียวกัน หมายถึง ไม่ได้ยินความคิดที่เป็นความอยาก ไม่ได้ยินความรู้สึกที่เป็นความทุกข์ สภาวะที่ว่างจากความปรุงแต่งในทุกระดับ นั่นแหละคือ สัจธรรมแท้แห่งเต๋า.
#ประโยคที่ ๒ "เอื้อมถึง แต่ก็จับฉวยไม่ได้"
ที่ว่า เอื้อมถึง หมายถึง ความว่าง (สุญญตา) หมายความว่า เป็นสภาวะที่ประจักษ์แจ้งได้ พ้นทุกข์สิ้นปัญหาได้; ที่ว่า แต่จับฉวยไม่ได้ หมายความว่า ความว่างเป็นธรรมชาติที่ไร้อัตตา ไม่มีตัวตนให้จับ หรือแม้แต่ผู้จับเองก็ไม่มี แล้วสิ่งที่ถูกจับจะมีได้อย่างไร (สุญญตา).
#ประโยคที่ ๓ "เมื่อขึ้นมาก็ไม่ได้ส่องสว่าง เมื่อลงไปก็ไม่ได้มืดมิด"
ที่ว่า เมื่อขึ้นมาก็ไม่ได้ส่องสว่าง เพราะว่า ความว่างไม่มีแสง ว่างจากแสงสว่าง ที่ว่า เมื่อลงไปก็ไม่ได้มืดมิด หมายความว่า ธรรมชาติของจิตว่างหรือเต๋านั้น เป็นสภาวะที่ไม่มีสิ่งคู่ ความสว่างคู่กับความมืด แต่สัจธรรม กล่าวคือ ความว่าง ไม่มีทั้งความสว่างและความมืด.
#ประโยคที่ ๔ "ไร้รูป ไร้นาม มีความต่อเนื่อง มันหวนกลับไปสู่อาณาจักรที่ไม่มีอะไร"
ธรรมชาติแห่งความว่าง (เต๋า) ไม่ใช่รูปที่เป็นวัตถุ ไม่ใช่นามที่เป็นความรู้สึกนึกคิด ท่านจึงกล่าวว่า ไร้รู้ ไร้นาม ที่ว่า มีความต่อเนื่อง หมายความว่า เป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง ไม่มีอะไรเกิด ไม่มีอะไรดับ นั่นคือ อาณาจักรที่ไม่มีอะไรจริงๆ.
#ประโยคที่ ๕ "ก่อตัวเป็นรูปร่างได้ทุกอย่าง เป็นภาพโดยไม่มีภาพ"
คนส่วนมากมักจะเข้าใจไปว่า ถ้าจิตว่างแล้ว จะไม่จำอะไรเลย หรือความคิดก็ไม่มี ที่จริง จำได้ คิดได้ แต่จำคิดด้วยสติปัญญา มโนภาพเกี่ยวกับอดีตเกี่ยวกับอนาคตก็เกิดได้ ท่านจึงใช้คำว่า เป็นภาพโดยไม่มีภาพ นั่นคือ ความหมายของอนัตตา.
#ประโยคที่ ๖ "ละเอียดอ่อนพ้นการคาดคิด ย้อนไปดูก็ไม่มีจุดเริ่มต้น ตามไปดูก็ไม่มีจุดสิ้นสุด"
ความว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นอสังขตธรรม เป็นสภาวะที่พ้นจากการคิดการคำนวณเอาด้วยเหตุเหตุผล ย้อนดูไปในอดีต ก็หาจุดเริ่มต้นไม่พบ ตามดูไปในอนาคต ก็หาจุดจบไม่เจอ นั่นคือ ความละเอียดอ่อนแห่งสัจธรรมแท้.
#ประโยคที่ ๗ "เจ้ารู้มันไม่ได้ แต่เจ้าเป็นมันได้ ดังนั้น จงสบายๆ กับชีวิต แค่รู้ว่า เจ้ามาจากไหนก็พอ นี่คือ สาระของปัญญาญาณ"
ที่ว่า รู้มันไม่ได้ หมายความว่า ไม่สามารถรู้ได้ด้วยการใช้เหตุผลของความคิด ที่ว่า เป็นมันได้ หมายความว่า เป็นสิ่งที่ประจักษ์แจ้งได้ เป็นสภาวะที่เข้าใจได้ ท่านจึงกล่าวในวลีสุดท้ายว่า นี่คือ สาระของปัญญาญาณ. (๖ ก. ย. ๖๖)