#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ใจกว้างดั่งท้องฟ้า.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๒) จะแบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "สีเจิดจ้าทำให้ตาพร่า"

      สีหรือแสง เรียกว่า รูป ซึ่งเป็นอายตนะภายนอก, สิ่งที่เรียกว่า ตา เป็นอายตนะภายใน; ปรากฏการณ์ที่เป็นสีเป็นแสงอันเจิดจ้า ถ้าได้ดูได้เห็น ก็จะทำให้ตาพร่ามัว สีแสงอันหลากหลาย ที่ธรรมชาติจัดสรรขึ้นมาเองตามธรรมชาติ นี้ก็อย่างหนึ่ง, สีแสงที่ถูกจัดสรรขึ้นด้วยความคิดหรือน้ำมือของมนุษย์ นี้ก็อีกอย่างหนึ่ง.

      #ประโยคที่ ๒ "เสียงดังทำให้หูอื้อ"

      เสียง เรียกว่า อายตนะภายนอก เป็นปรากฏการณ์ที่ดังขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัยหลากหลาย เช่น เสียงดัง เสียงเบา เสียงแหลม เสียงทุ้ม ฯลฯ; หู เรียกว่า อายตนะภายใน ถ้าหูปรกติ ประสาทก็ไม่พิกลพิการ เมื่อมีเสียงดังขึ้น ก็สามารถรับรู้ต่อเสียงต่างๆ ได้ ท่านกล่าวว่า เสียงดังทำให้หูอื้อ สิ่งใดก็ตาม ถ้าเกินความพอดี ก็จะเป็นโทษได้.

      #ประโยคที่ ๓ "รสทั้งห้าทำให้ลิ้นชาด้าน"

      รสทั้งห้า ได้แก่ รสเผ็ด รสเปรี้ยว รสหวาน รสขม รสเค็ม, รสเป็นอายตนะภายนอก ลิ้นเป็นอายตนะภายใน มีหน้าที่ในการกลั่นกรองสิ่งที่ดื่มกินเข้าไป รสต่างๆ ที่ผ่านเข้าไปในร่างกาย ลิ้นทำหน้าที่กลั่นกรองเพื่อให้ระดับของรสอยู่ในความพอเหมาะพอดี เผ็ดจัดก็อันตราย เค็มจัดก็เป็นโทษต่อสุขภาพร่างกาย เป็นต้น.

      #ประโยคที่ ๔ "ความคิดทำให้จิตขุ่นมัว"

      สิ่งที่เรียกว่า ความคิด เป็นธรรมชาติกลางๆ ไม่ดี ไม่ชั่ว เรียกว่า สังกัปปะ ถ้าความคิดประกอบด้วยอวิชชา เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ เป็นความคิดปรุงแต่ง ความคิดฟุ้งซ่าน คิดแล้วทำให้จิตขุ่นมัวและเป็นทุกข์ แต่ถ้าคิดด้วยสติปัญญา เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ ไม่ปรากฏเป็นอัตตา (อนัตตา).

      #ประโยคที่ ๕ "ความอยากได้ ทำให้หัวใจผู้คนแห้งผากและโหดร้าย"

      ความอยาก ก็คือ ตัณหา จิตใจหิว กระหาย ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ มีความรู้สึกพร่อง ขาด เติมเท่าไหร่ไม่เต็ม ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง, ยินดี เรียกว่า กามตัณหา ภวตัณหา ยินร้าย เรียกว่า วิภวตัณหา ท่านจึงกล่าวว่า ความอยากได้ทำให้หัวใจ (จิตใจ) ผู้คนแห้งผากและโหดร้าย (วิภวตัณหา).

      #ประโยคที่ ๖ "ผู้รู้สังเกตโลก ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาแล้ว ผ่านออกไป ไม่ยึดติดด้วยหัวใจที่เปิดกว้างเหมือนท้องฟ้า"

      ผู้รู้ ก็คือ ผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับเต๋า เปี่ยมอยู่ด้วยปัญญาญาณ ไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ จะเกี่ยวข้องกับอะไร ก็เกี่ยวข้องไปด้วยความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน ท่านจึงกล่าวว่า ปล่อยให้สิ่งต่างๆ ผ่านเข้ามาแล้ว ผ่านออกไป จิตใจกว้างดั่งท้องฟ้า. (๑๐ ส. ค. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

27139

Character Limit 400