#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#ประโยชน์ของที่ว่าง.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๑๑) จะแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้:-
#ประโยคที่ ๑"ประกอบซี่เข้ากับวงล้อ แต่เป็นเพราะรูว่างตรงกลาง ทำให้เกวียนเดินหน้าไปได้"
สมัยโบราณยานพาหนะในการเดินทางหรือการบรรทุกสิ่งของสัมภาระ มักจะอาศัยเกวียนเป็นหลัก ท่านต้องการจะชี้ให้เห็นความสำคัญของรูว่างตรงกลางของล้อเกวียน ถ้าล้อเกวียนไม่มีรูว่างตรงกลาง คงใช้งานไม่ได้และไม่ได้รับประโยชน์อะไร แต่เพราะมีรูว่างตรงกลางของล้อ จึงทำให้เกวียนเคลื่อนเดินหน้าไปได้.
#ประโยคที่ ๒ "ปั้นดินเหนียวเป็นหม้อ แต่เป็นเพราะความว่างตรงกลาง ทำให้เก็บข้าวปลาได้"
สมัยก่อนหม้อหุงต้มอะไรต่างๆ ส่วนมากก็จะใช้หม้อดินกัน ประโยชน์ของหม้อ ก็คือ ความว่าง ถ้าไม่มีความว่าง หม้อใบนั้นก็ไม่มีประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่ได้ ขอยกตัวอย่างเสริม การขุดหลุม ต้องเอาดินออก ประโยชน์ของหลุม ก็คือ ความว่าง; การขุดสระเพื่อเก็บน้ำไว้ใช้ในการอุปโภคบริโภค ก็ต้องเอาดินออก ความว่างของสระจึงใช้ประโยชน์ได้.
#ประโยคที่ ๓ "ตีฝากระดานทำเป็นบ้าน แต่เป็นเพราะที่ว่างภายใน ทำให้อยู่อาศัยได้"
ประโยชน์ในการใช้สอยของบ้าน ก็คือ ที่ว่าง ยิ่งที่ว่างมีความกว้างมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีประโยชน์ในการใช้สอยมากเท่านั้น ขอยกตัวอย่างเพิ่มเติม ห้องประชุมที่กว้างใหญ่ บรรจุคนได้เป็นร้อยเป็นพัน; แน่นอนว่า การสร้างบ้าน ฝากระดานกั้นก็สำคัญ ไว้ป้องกันโจรผู้ร้ายหรืออื่นๆ ได้ เพื่อความปลอดภัย แต่ประโยชน์ในการใช้สอยโดยตรง ก็คือ ที่ว่างภายในบ้าน.
#ประโยคที่ ๔ "เราลงมือทำสิ่งที่มีรูป แต่สิ่งที่ไร้รูปเป็นส่วนที่เราได้ใช้ประโยชน์"
ท่านชี้ให้เห็นว่า เพราะมีที่ว่าง ทุกอย่างดังกล่าวจึงใช้ประโยชน์ได้; ในภาษาธรรมก็เช่นเดียวกัน สิ่งสูงสุด ก็คือ จิตว่าง (สุญญตา) หรือเต๋านั่นเอง ประโยชน์ของความว่าง (จิตว่าง) หรือที่ท่านเล่าจื่อใช้คำว่า เต๋า เป็นสภาวะแห่งความอิสรภาพเสรีภาพอย่างแท้จริง ซึ่งมีความหมายอันลึกซึ้งและมีประโยชน์อย่างยิ่ง ให้ความเกื้อกูลในทุกด้าน. (๑๑ ก. ค. ๖๖)