#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

28 Sep

ความสุข

           ความสุขเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา เป็นสิ่งที่ทุกคนแสวงหากันอยู่ ความสุขนั้นเราสามารถทําให้เกิดขึ้นได้ทันที ก็คือในจิตใจนี่เอง เมื่อใดเรามีศรัทธา มีเมตตา  มีความสดชื่น เบิกบาน ผ่องใส ความสุขก็เกิดขึ้นในใจเมื่อนั้นทันที พูดสั้นๆ ว่า ทํากุศลให้เกิดขึ้นมา เพราะว่ากุศลธรรมนํามาซึ่งความสุข

          คนเราเกิดมาย่อมปรารถนาความสุข พระพุทธเจ้าตรัสประมวลหลักวิธีปฏิบัติในเรื่องความสุข และความทุกข์ไว้ ในที่แห่งหนึ่ง  ซึ่งน่าสนใจมาก ขอนํามาแสดงไว้ ดังนี้

๑. ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์

๒. ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม

๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่ลุ่มหลงมัวเมา

๔. เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป

            นี่เป็นหลักสําคัญ ถ้าเราปฏิบัติได้ตามหลักการนี้ เราก็ชื่อว่าปฏิบัติถูกต้องในเรื่องความสุขความทุกข์ ทีนี้ลองมาดู  

            ข้อที่ ๑  ไม่เอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มี ทุกข์ หมายความว่า เราอยู่ในโลก เราก็มีชีวิตอยู่ตามธรรมดา สังขารมันก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ตามธรรมดาของมัน เราดําเนินชีวิตให้ดีงามถูกต้อง แล้วทุกข์ตามธรรมชาติก็มีของ มันไป อันนั้นเราไม่ไปเถียงมัน แต่เราไม่เพิ่ม เราไม่เอาทุกข์มาทับถมตัวเรา เราก็สบายไปขั้นหนึ่งแล้ว ในทางตรงข้ามถ้าเราปฏิบัติไม่ถูกต้อง ทุกข์ที่มันมีอยู่ในธรรมชาตินั้น มันก็เกิดเป็นทุกข์ในใจของเรา เราก็เอาทุกข์มาทับถมตัวเอง

           ดังจะเห็นว่าบางคนปฏิบัติไม่ถูกต้อง เที่ยวหาทุกข์มาใส่ตนมากมาย เรื่องนี้พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในการที่ทรงโต้ตอบกับลัทธิ นิครนถ์  คือ ลัทธินิครนถ์นี้เขาถือการบําเพ็ญตบะ ทําความเพียรทรมานตนเอง ซึ่งมีวิธีการต่างๆ มากมาย เป็นการหาทุกข์มาใส่ตน เช่น เวลาจะโกนศีรษะ เขาไม่ใช้มีดโกน แต่เขาใช้วิธีถอนผมทีละเส้นจนกระทั่งหมดศีรษะ อย่างนี้เป็นต้น  จึงทําให้เกิดทุกข์ขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า วิธีนี้ เป็นการเอาทุกข์มาทับถมตนที่ไม่มีทุกข์

           ข้อที่ ๒  ไม่ละทิ้งสุขที่ชอบธรรม สุขที่ชอบธรรม คือสุขที่เราควรได้ควรมีตามเหตุปัจจัย มีหลายขั้นหลายระดับ เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับความสุขเหล่านั้น  แต่ให้เป็นไปโดยชอบธรรม เช่น ถ้าเป็นความสุขทางวัตถุ ก็ไม่ให้เป็นความสุขที่เบียดเบียน ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แต่ควรจะเป็นความสุขที่เผื่อแผ่ ซึ่งช่วยให้เกิดความสุขขยายกว้างขวางออกไป เราสุขผู้อื่นก็ไม่ทุกข์ ถ้าให้ดียิ่งกว่านั้น ก็ให้เป็นสุขด้วยกัน สุขแบบไปด้วยกัน หรือสุขแบบประสานกัน ช่วยกันสุข ถ้าเราสุข ก็ทําให้เขาสุขด้วย นี่ก็คือความสุขที่เกิดจากการพัฒนาจิตใจ โดยเฉพาะก็คือ ความรักแท้  คือ ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นเป็นสุข

           ความรักแท้ที่ต้องการให้คนอื่นเป็นสุข จะเห็นได้ง่ายๆ เหมือนความรักของพ่อแม่รักลูก ก็คือ อยากให้ลูกเป็นสุข ถ้าเราอยากให้ลูก เป็นสุข เราก็ต้องพยายามทําทุกอย่างเพื่อให้ลูกเป็นสุข เพื่อจะได้ เห็นลูกมีความสุข พอเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย

           จะเห็นว่า พ่อแม่อยากเห็นลูกเป็นสุข ก็เลยต้องพยายามทําให้ลูกเป็นสุข ลูกต้องการวัตถุสิ่งของ  พ่อแม่ก็หาวัตถุเหล่านั้นมาให้แก่ลูก เมื่อให้แกดลูก พ่อแม่ก็ต้องสละ การสละนั้น ตามปกติจะทําให้ไม่สบาย เป็นทุกข์ เพราะอะไร เพราะว่าเราเสีย แต่พ่อแม่ให้แก่ลูก  ก็ไม่ทุกข์  แต่กลับสุขด้วย เพราะอะไร เพราะ อยากให้ลูกเป็นสุข และอยากเห็นลูกเป็นสุข พอเห็นลูกมีความสุข พ่อแม่ก็มีความสุขด้วย ก็เลย กลายเป็นว่า ความสุขของบุคคลทั้งสองนี้ อาศัยซึ่งกันและกัน เป็นความสุขแบบประสาน คือ ร่วมกันสุขหรือสุขด้วยกัน

           ข้อที่ ๓. แม้ในสุขที่ชอบธรรมนั้นก็ไม่ลุ่มหลงมัวเมา  พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าเป็นความสุขโดยชอบธรรมแล้ว  เรามีสิทธิ์เสวย ไม่ต้องไปสละละทิ้ง แต่ท่านสอนไม่ให้หยุดแค่นี้ เพราะ ถ้าเราปฏิบัติผิด พอเรามีความสุขแล้ว เราก็อาจจะพลาด คือ เราอาจจะเกิดไปหลงเพลิดเพลินมัวเมาในความสุขนั้น  ความสุขนั้นก็จะกลับกลายเป็นปัจจัยของความทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น ความสุขนั้นเราจะต้องรู้ทันด้วย

           ความสุขก็เป็นโลกธรรมอย่างหนึ่ง คือ มันเกิดขึ้นแล้ว ก็ตั้ง อยู่และดับไป เป็นอนิจจัง เปลี่ยนแปลงไปได้ ถ้าเรารู้ทันความจริงนี้ เมื่อสุข เราก็เสวยสุขนั้นโดยชอบธรรม แต่เราไม่หลงใหลมัวเมาในความสุขนั้น แต่ถ้าหลงมัวเมาสุข  ก็เป็นปัจจัยแก่ทุกข์ อย่างน้อยก็ทําให้ติด แล้วก็เพลิดเพลิน หลงมัวเมา  ทําให้เกิดความประมาท คนที่คิดว่า เราสุขแล้ว เราสําเร็จแล้ว เราเก่งแล้ว เราดีแล้วนี่ พระพุทธเจ้าตรัสเตือนไว้ว่าจะเป็นเหตุให้เกิดความประมาท เพราะเกิดความพอใจ ก็ได้แต่มัวเสวยความสุขและความสําเร็จนั้น  ไม่ทําอะไรที่ควรจะทําต่อๆ ไป หรือให้ยิ่งขึ้นไป  มีกิจหน้าที่อะไรที่ควรทําก็ไม่ทํา อะไรเกิดขึ้น ควรตรวจตราแก้ไข หรือจัดดําเนินการ ก็ปล่อยก็ละเลย มัวแต่หลงในความสุข กลายเป็นทางของความประมาท และความเสื่อมไปได้เช่นกัน

           ข้อที่ ๔ เพียรปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุขที่ประณีตยิ่งขึ้นไป การที่เราจะต้องไม่ประมาท ไม่หลงติดเพลินในความสุข ก็เพราะว่ายังมีความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งขึ้นไปที่ เราควรจะได้ยิ่งกว่านี้ เพราะฉะนั้น เราจึงก้าวต่อไปสู่ขั้นที่ ๔ นี้  คือ ความสุขที่เกิดจากปัญญา ความรู้เท่าทันสังขาร รู้โลกและชีวิตตามเป็นจริง รู้เท่าทันอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

           เมื่อรู้ความจริงแล้ว ก็จะเข้าถึงเท่าทันกระแสของธรรมชาติ เรียกว่า กระแสเหตุปัจจัย ปัญญาของเราก็เข้าไปรู้ทันกระแสเหตุปัจจัยนี้ พอปัญญารู้เท่าทันมันแล้ว เราก็วางใจได้ รู้สึกเบาสบาย เราก็รู้แต่เพียงตามเป็นจริงว่า เวลานี้สิ่งนี้มันเป็นอย่างนี้ มันก็เป็น ไปตามเหตุปัจจัยของมัน เมื่อรู้ทันแล้ว สิ่งนั้นก็ไม่ย้อนมาทําพิษแก่จิตใจของเรา จิตใจของเราก็เป็นอิสระ ตอนนี้ก็จะมาถึงขั้นสุดท้ายที่ว่า สิ่งทั้งหลายที่เป็นสังขาร มันเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันก็เป็นทุกข์ไปตาม ธรรมชาติของมัน ตามสภาวะ เรารู้เห็นความจริงของมัน แต่เราไม่พลอยเป็นทุกข์ไปด้วย ตอนนี้แหละ ที่ท่านเรียกว่ามีจิตใจเป็นอิสระ จนกระทั่งว่า แม้แต่ทุกข์ที่มีในกฎของธรรมชาติ ก็ไม่สามารถมาเบียดเบียนบีบคั้นใจเราได้ เป็นอิสรภาพแท้จริง ที่ท่านเรียกว่า วิมุตติ

           พอถึงตอนนี้ ก็ไม่ต้องหาความสุขอะไรอีก ถ้ามีอะไรมาเสริมให้ความสุขเพิ่มขึ้น เราก็มีความสุขที่เป็นส่วนแถม และเราก็มี สิทธิ์เลือกตามสบายว่าจะเอาความสุขนั้นหรือไม่ ไม่มีปัญหา และ เมื่อสุขแถมนั้นไม่มี ก็ไม่เป็นไร เราก็สุขอยู่ตลอดเวลา ตอนนี้ท่านเรียกว่า ไม่มีอะไรต้องทําเพื่อตัวเองอีก พลังงาน ชีวิตที่เหลืออยู่ ก็ยกให้เป็นประโยชน์แก่โลกไป นี่แหละเป็น สุขที่สมบูรณ์ และก็เป็นชีวิตที่สมบูรณ์ อย่างแท้จริง

 

                                                      เรียบเรียงจากหนังสือ ความสุขที่สมบูรณ์ 

                                                     โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)

No comments yet...

Leave your comment

13589

Character Limit 400