#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง เราชาวพุทธพึงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด. (ตอนที่ ๑ “ตน” โดยสมมติ)
เรื่อง เราชาวพุทธพึงใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาทเถิด. (ตอนที่ ๑ “ตน” โดยสมมติ)
พระพุทธองค์ กล่าวปัจฉิมโอวาสว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจึงควรยังประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท” เพื่อพร้อมรับ ความแก่ ความชราภาพ ซึ่งในที่สุดก็จากโลกไปนั่นเอง.
แต่ในขณะที่เรามีชีวิตอยู่นั้น พระพุทธองค์ตรัสว่า “ผู้ที่ดำเนินชีวิตด้วยความไม่ประมาท” คือบุคคลผู้ทำประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ดังคำว่า “ตน “(บาลี คือ อัตตา) นี้
แบ่งออกเป็น ๒ ความหมาย ดังนี้ (ตน โดยสมมุติ และ ตน โดยปรมัตถ์)
๑.”ตน” โดยสมมติ ดังพุทธสุภาษิตว่า “อัตตา หิ อัตตโน นาโถ” “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
พระพุทธองค์ตรัสว่า ตัวตนเป็นสมมติ เพื่อการพัฒนาสร้างสรรค์ทำหน้าที่ อันต้องพึ่งพาผู้อื่น แต่หลักการพึ่งพาอันสำคัญคือ การพึ่งตนเอง เพื่อพัฒนาจิตใจตนให้อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข หรือแม้แต่การบรรลุมรรคผล นิพพานในระดับพระอรหันต์ อันบุคคลพึงต้องทำหน้าที่ โดยการรู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น พระพุทธเจ้าเป็นเพียงผู้ชี้ทาง เพื่อการเข้าถึงพระนิพพาน เพื่อการหลุดพ้น หรือทางสายกลาง ดังนั้นการเข้าถึงด้วยตนเองเป็นสำคัญนี้ จึงจักเรียกว่า “เป็นผู้ไม่ประมาท”
มีคำกล่าวว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก”
อันหมายถึง เมื่อมีประโยชน์เกิดขึ้นแก่ตนแล้ว จึงควรรีบตัก เก็บสะสมไว้ เพื่อการพัฒนาตนให้ทำหน้าที่ ที่ถูกต้องทำความดีให้ถึงพร้อมให้เหมาะสมแก่ชาวพุทธในการดำเนินชีวิตในปัจจุบันขณะนั่นเอง (การถึงนิพพานคือ ความสงบหรือการขึ้นสวรรค์ในขณะมีชีวิตอยู่นั่นเอง)
ซึ่งเป็นพุทธภาวะ, เป็นอมตะไม่ตาย หากผู้ใดเข้าถึง จักเรียกว่า “อนุพุทธะ” อันเป็นสัจธรรมมีอยู่จริง เราท่านทั้งหลายจึงควรเชื่อมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้าเถิด ดังนั้น เราท่านทั้งหลาย พึงรู้ “ตนอันสมมติ” ให้ถูกต้องบริบูรณ์กันเถิด
ขอยกตัวอย่างคำกล่าวนี้ เพื่ออธิบายต่อท่านทั้งหลาย คำว่า “อย่าหวังน้ำบ่อหน้า” อันหมายถึง
บุคคลที่พึงแต่ร้องขอ หรืออธิษฐานขอต่างๆ ให้บังเกิดแก่ตน คือบุคคลที่ ไม่ได้ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า มี ๒ จำพวก คือ
ประเภทที่หนึ่ง คือ คนที่มีความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เป็นคนประมาท เพราะทำความดีแบบผิวเผิน
ประเภทที่สอง คือ คนที่ต้องการบิดเบือนคำสอนของพระพุทธเจ้าให้ชาวพุทธเกิดความสับสน
ทั้งสองจำพวกนี้ ประกอบด้วยอวิชชา มิจฉาทิฏฐิ นั้นเอง
สมดังดังคำกล่าวของท่านพุทธทาส ว่า “ทำงานทุกชนิดเพื่อจิตว่าง” คือ ว่างจากตน ว่างจากความรู้สึกว่าเป็น ตน รวมเรียกใน ภาษาธรรม ซึ่งทั้ง “ตน” ในสมมติ และ “ตน” ในปรมัตถ์ ต้องอยู่รวมกันและเมื่อท่านทั้งหลายเพียรปฏิบัติให้สมบูรณ์แล้ว ผู้นั้น จักเรียกว่า “ผู้ไม่ประมาท” อันดำเนินชีวิตที่ประกอบด้วยความถูกต้อง ความพอเพียง นั่นเอง.
เรียบเรียงธรรมบรรยาย โดย ลลิต มณีธรรม.