#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##การจุติและการเกิดขึ้น##
#คำว่า จุติ แปลว่า เคลื่อน หมายถึง เคลื่อนจากภาวะหนึ่ง ไปสู่อีกภาวะหนึ่ง; คำว่า เกิด (อุบัติ) เป็นสิ่งที่เนื่องมาจากการจุติ หมายความว่า มีการอาศัยกันแห่งเหตุปัจจัย เมื่อถึงพร้อมแห่งเหตุปัจจัย ก็เกิดสิ่งใหม่ขึ้นมา; การถึงพร้อมระหว่างเหตุปัจจัย เรียกว่า จุติ, การปรากฏมีขึ้นของสิ่งใหม่ เรียกว่า การเกิด (อุบัติ).
#การจุติและการเกิดขึ้น เป็นลักษณะของสังขตธรรม คือ สิ่งที่ปรุงแต่ง, จะขอแยกอธิบายสัก ๔ ความหมาย :-
๑) การจุติและการเกิดขึ้นในภาษาไสยศาสตร์ เช่น เทวดาจุติ คือ เคลื่อนจากสวรรค์มาเกิดในโลกของมนุษย์; การที่เทวดาเคลื่อนจากสวรรค์ เรียกว่า จุติ, การมาเกิดในโลกของมนุษย์ เรียกว่า การเกิดขึ้น; อันนี้เป็นการจุติและการเกิดขึ้นอย่างไสยศาสตร์, ทำไมจึงพูดว่าเป็นไสยศาสตร์ เพราะมีลักษณะเป็นอัตตา, ส่วนพุทธศาสนาสอนเรื่องอนัตตา.
๒) การจุติและการเกิดขึ้นในภาษาวิทยาศาสตร์หรือภาษาเคมี เช่น เอาออกซิเจนกับไฮโดรเจนมาทำปฏิกิริยากัน, น้ำก็ปรากฏมีขึ้น; การทำปฏิกิริยากันระหว่างออกซิเจนกับไฮโดรเจน เรียกว่า จุติ, การปรากฏมีขึ้นของน้ำ เรียกว่า การเกิดขึ้น.
๓) การจุติและการเกิดขึ้นในภาษาสรีรศาสตร์ เช่นเชื้อของพ่อกับไข่ของแม่มาปฏิสนธิกัน, จึงเกิดเป็นตัวอ่อนหรือเด็กทารกขึ้นมา; การทำปฏิสนธิกันระหว่างเชื้อของพ่อกับไข่ของแม่ เรียกว่า จุติ, การปรากฏมีขึ้นของตัวอ่อนหรือเด็กทารก เรียกว่า การเกิดขึ้น.
๔) การจุติและการเกิดขึ้นในภาษาพุทธศาสตร์ เช่น อาศัยตา รูป จักขุวิญญาณ, สามอย่างนี้ถึงกัน เรียกว่า ผัสสะ, และเป็นผัสสะที่ประกอบด้วยอวิชชา, ผัสสะก็เป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น; การผัสสะระหว่างตา รูป จักขุวิญญาณที่ประกอบด้วยอวิชชา เรียกว่า จุติ, การที่เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ความทุกข์ปรากฏมีขึ้น เรียกว่า การเกิดขึ้น; ทำไมจึงพูดว่าเป็นภาษาพุทธศาสตร์, เพราะว่าพุทธศาสนาสอนเรื่องทุกข์กับความไม่เป็นทุกข์. (๑๘ พ. ย.๖๑).