#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
พระนิพพาน คือ สภาวะนิรันดร์
#คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๙๘; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-
#ประโยคที่ ๑ ""ไม่ว่าในขณะใดหมด, นิพพานย่อมไม่มีปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลง หรือแห่งการแตกดับ"" การเปลี่ยนแปลงและการแตกดับ เป็นลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง (สังขตธรรม) เช่น ความโลภเกิดขึ้น, ความโลภแปรปรวนเปลี่ยนแปลง, และในที่สุดก็ดับไป ฯลฯ; แต่นิพพาน เป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) ดังนั้น นิพพานจึงไม่มีปรากฏการณ์แห่งการเปลี่ยนแปลงและการแตกดับ.
#ประโยคที่ ๒ ""ไม่มีแม้กระทั่งความสิ้นสุดของการทำหน้าที่ของความเกิดขึ้นและความแตกดับ"" ที่ได้กล่าวแล้วว่า การเกิดการดับ เป็นลักษณะของสังขตธรรม; เกิดขึ้นในเบื้องต้น, แปรปรวนในท่ามกลาง, และแตกสลายดับไปเป็นที่สุด; แต่นิพพานนั้น เป็นอสังขตธรรม, ดังนั้น จึงไม่มีการเกิด ไม่มีการแตกดับ.
#ประโยคที่ ๓ ""นิพพานเป็นการแสดงออกของความหยุดได้โดยสมบูรณ์ และความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง"" การแสดงออกของความหยุดโดยสมบูรณ์ หมายถึง เป็นที่หยุดของความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวงนั่นเอง, เป็นสภาวะอันเป็นที่สิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง ก็คือ ว่าง (สุญญตา) จากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง.
#ประโยคที่ ๔ ""แต่แม้ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น ก็ไม่มีความเห็นว่า เป็นการแสดงออก"" คำว่า ความเห็น หมายถึง ความรู้แจ้ง หรือความเห็นแจ้ง; ถาม..รู้แจ้งเห็นแจ้งอะไร ?, ตอบ..รู้แจ้งเห็นแจ้งพระนิพพาน; ที่ท่านกล่าวว่า ในขณะแห่งการแสดงออกนั้น ก็ไม่มีความเห็นว่า เป็นการแสดงออก หมายความว่า ไม่มีความเห็นว่า "ฉัน" เป็นผู้แสดงออก.
#ประโยคที่ ๕ ""ดั่งนั้น จึงถูกเรียกว่า ความเปรมปรีดิ์อันไม่รู้จักหมดสิ้น, ซึ่งไม่ต้องมีตัวผู้เปรมปรีดิ์ หรือผู้ไม่เปรมปรีดิ์แต่อย่างใด"" คำว่า ความเปรมปรีดิ์ในที่นี้ หมายถึง พระนิพพาน เป็นสภาวะแห่งความอิสรภาพเสรีภาพอย่างนิรันดร์, ซึ่งว่างจากความยินดีความยินร้าย; ผู้เปรมปรีดิ์ คือ ยินดี, ผู้ไม่เปรมปรีดิ์ คือ ยินร้าย. (๙ ธ. ค.๖๑).