#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##นิพพานไม่ใช่ความตาย
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๙๙; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""คนสามัญและคนเขลา, หลงเรียกนิพพานนั้นว่า ความตาย"" คือเขาเข้าใจว่า คนธรรมดาหมดลมหายใจ เรียกว่า ตาย; พระภิกษุหมดลมหายใจ เรียกว่า มรณภาพ; พระมหากษัตริย์หมดลมหายใจ เรียกว่า สวรรคต; พระพุทธเจ้าหมดลมหายใจ เรียกว่า นิพพาน; อย่างอื่นถูกหมด แต่พระพุทธเจ้าหมดลมหายใจ ต้องใช้คำว่า ปรินิพพานจึงจะถูก.
##ประโยคที่ ๒ ""ฝ่ายพวกมิจฉาทิฏฐิก็ถือเอาตามชอบใจว่า นิพพานนั้นเป็นความขาดสูญ"" คือเขามีความเห็นว่า ถ้าสิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์, เมื่อตายไปแล้ว จะไม่กลับมาเกิดอีก บาลีใช้คำว่า อุจเฉททิฏฐิ คือมีความเห็นว่า ตายแล้วสูญ เป็นความขาดสูญ; ตรงข้าม ถ้ามีกิเลส, ครั้นร่างกายนี้ตาย, ก็ยังต้องกลับมาเกิดอีก นี้เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คือเห็นว่าตายแล้วเกิดใหม่ได้.
##ประโยคที่ ๓ ""พวกที่เป็นฝ่ายสาวกยานและปัจเจกพุทธยาน, เห็นพระนิพพานว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีการกระทำ"" ในพระสูตรเปรียบสาวกยานเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยแพะ, ส่วนปัจเจกพุทธยานเปรียบเหมือนกับเกวียนที่เทียมด้วยกวาง ซึ่งยานทั้งสองนี้ ก็ยังเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือ เห็นพระนิพพานว่า เป็นสิ่งที่ไม่มีการกระทำ.
##ประโยคที่ ๔ ""ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงการคำนวณเอาด้วยสติปัญญาของคนสามัญ และย่อมจะสร้างรากฐานแห่งมิจฉาทิฏฐิ ๖๒ ประการขึ้นมา"" ท่านกล่าวว่า ยานทั้งสอง คือ สาวกยานและปัจเจกพุทธยาน เป็นเพียงการใช้วิธีคิดคำนวณกันไปเอง ด้วยสติปัญญา (จินตามยปัญญา) อย่างคนธรรมดาสามัญ (ปุถุชน).
##ประโยคที่ ๕ ""ทั้งหมดนี้ เป็นเพียงชื่อต่าง ๆ ที่คิดเดาเอาเอง ประดิษฐ์ขึ้นเอง, ในขณะที่เขาไม่รู้จะทำอย่างไรต่อสัจธรรมอันสูงสุดนั้น"" มิจฉาทิฏฐิที่ว่า พระนิพพานเป็นสิ่งที่ไม่มีการกระทำ คือเขาเข้าใจไปว่า ถ้าจิตสิ้นกิเลสแล้ว ย่อมทำอะไรไม่ได้, คงจะเฉื่อยชา ไม่ Active, แต่ที่จริง จิตที่ไม่มีกิเลสนั่นแหละ ย่อมมีสมรรถนะในการทำหน้าที่. (๒๒ ธ. ค.๖๑)