#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ทำหน้าที่ด้วยจิตว่าง
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๐- ๑๐๑; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ท่านเหล่านั้นอาจระบุเจาะจงสิ่งต่าง ๆ ได้ทุกชนิด แต่ว่าความรู้สึกยึดถือใน "การระบุเจาะจง" นั้น มิได้เกิดขึ้นเลย"" ที่ท่านเว่ยหล่างกล่าวว่า "ท่านเหล่านั้น" หมายถึง ผู้ที่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้แล้ว หมายความว่า ผู้ที่ประจักษ์แจ้งสว่างไสวอยู่กับจิตเดิมแท้นั้น
ในขณะที่ทำงานอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ แต่ก็ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นต่องานนั้น ๆ ก็คือ ทำไปด้วยสติปัญญานั่นเอง ดังคำกล่าวของท่านอาจารย์พุทธทาสที่ว่า "อันจิตว่างมีได้ในกายวุ่น" ร่างกายเคลื่อนไหว แต่จิตใจว่าง.
##ประโยคที่ ๒ ""แม้ขณะที่ไฟประลัยกัลป์ล้างโลกในที่สุดของกัลป์ เมื่อท้องมหาสมุทรแห้งไป; หรือขณะที่ลมมหาประลัยพัดทำลายโลก, จนภูเขาล้มชนกันระเกะระกะ, ศานติสุขอันแท้จริงและยั่งยืนของ "ความสิ้นสุดของความเปลี่ยนแปลง" แห่งนิพพาน
ย่อมยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย"" ในประโยคนี้ ท่านใช้คำว่า "นิพพาน"; สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้กับนิพพาน คือ สิ่งเดียวกัน, สภาวะแห่งจิตเดิมแท้หรือนิพพาน จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร.
##ประโยคที่ ๓ ""นี่ฉันได้พยายามอธิบายแก่ท่าน ถึงสิ่งบางสิ่งที่เหลือที่จะพูดออกมาได้, เพื่อให้ท่านสามารถกำจัดความเห็นผิดของท่านเสีย, แต่ถ้าท่านไม่ตีความแห่งคำพูดของฉันให้ตรงตามความหมายแล้ว ท่านอาจเรียนรู้ความหมายของนิพพาน แต่เพียงกะจิริดนิดหนึ่งเท่านั้น""
ที่ท่านกล่าวว่า ท่านพยายามอธิบายถึงสิ่งบางสิ่ง หมายถึง จิตเดิมแท้หรือนิพพาน, มีข้อความตอนท้ายว่า "เมื่อได้ฟังโศลกนี้แล้ว ภิกษุฉิต่าวได้มีความสว่างไสวในธรรมอย่างสูง, เธอรับฟังคำสอนด้วยใจอันปราโมทย์และลาจากไป". (๑๑ ม. ค.๖๒)