#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตเดิมแท้คือจิตที่อิสระ#!!!
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๔; ในบทนี้มีความยาวพอควร จึงแบ่งออกเป็นตอนๆ, นี้เป็นตอนที่ ๓ ขอแยกออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""พระสังฆปริณายกเห็นเช่นนั้นจึงกล่าวขึ้นว่า ก็ภิกษุย่อมเป็นที่เกาะอาศัยของศีลสิกขาบทสามพันข้อ และสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ อีกแปดพันข้อ; ผมสงสัยเหลือเกินว่า ท่านมาจากสำนักไหน และมีอะไรที่ทำให้ท่านถือตัวถึงเพียงนี้""
พระสังฆปริณายกได้ถามภิกษุหยวนกว็อกแห่งนิกายเทนดาย ซึ่งมีความเข้าใจธรรมะพอสมควร เพราะได้อ่านวิมลกีรตินิเทศสูตร และได้ตัดสินใจมาพบพระสังฆปริณายก.
##ประโยคที่ ๒ ""ท่านหยวนกว็อกได้ตอบว่า ปัญหาเกี่ยวกับการเวียนเกิดไม่รู้สิ้นสุดเป็นปัญหาด่วนจี๋ และความตายอาจจู่มาถึงขณะใดก็ได้ (ผมจึงไม่มีเวลามากพอที่จะเสียไปในการทำพิธีรีตองเช่นนั้น)""
ภิกษุหยวนกว็อก แม้ว่ามีความเข้าใจธรรมะละเอียดลึกซึ้งพอสมควร แต่ยังไม่สิ้นกิเลสเป็นพระอรหันต์ ดังนั้นท่านจึงแสดงออกในลักษณะถือตัว (มานะ) ซึ่งเป็นสังโยชน์อย่างหนึ่งที่แขวงอยู่ลึก.
##ประโยคที่ ๓ ""พระสังฆปริณายกถามไปว่า แล้วทำไมท่านไม่ทำความแจ่มแจ้งในหลักธรรมเรื่อง "ความไม่เกิด" และแก้ไขความยุ่งยากแห่งความไม่เที่ยงแท้ของชีวิตให้หมดไปด้วยธรรมนั้นเล่า?""
การที่พระสังฆปริณายกไถ่ถามไล่เลียงไปตามลำดับ ก็ทำให้ภิกษุหยวนกว็อกเกิดสติปัญญาที่ลึกซึ้งขึ้นไป จนเข้าถึงความเห็นแจ้งชัดต่อจิตเดิมแท้จริงๆ.
##ประโยคที่ ๔ ""ท่านหยวนกว็อกเสนอว่า การเห็นแจ้งจิตเดิมแท้เป็นการทำตนให้เป็นอิสระจากการเวียนเกิด จัดการกับปัญหาข้อนี้ให้ลุล่วงไปเพียงข้อเดียว, ปัญหาเรื่องความไม่เที่ยงก็จะไม่มีเหลืออีกต่อไป""
จากคำตอบของภิกษุหยวนกว็อก จะเห็นได้ว่า ท่านเข้าใจแจ่มแจ้งต่อจิตเดิมแท้แล้ว, การเห็นประจักษ์ชัดอยู่กับจิตเดิมแท้ จึงทำให้ความถือตัวหมดสิ้นไปจากจิตใจ.
##ประโยคที่ ๕ ""พระสังฆปริณายกได้ตอบรับว่า "ถูกแล้ว ถูกแล้ว"; ในตอนนี้หยวนกว็อกได้ยอมทำความเคารพอย่างเต็มที่ตามธรรมเนียม, ไม่กี่อึดใจ ก็กล่าวคำอำลาพระสังฆปริณายก""
ท่านเว่ยหล่าง ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก ท่านย้ำเป็นพิเศษเพียงอย่างเดียว ก็คือ การเข้าถึงความเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ (Essence of mind) อันเป็นหัวใจสำคัญยิ่งของพระพุทธศาสนา. (๑๓ ก. พ.๖๒)