#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#ความเข้าใจคือสิ่งปรุงแต่ง?
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๕; ในบทนี้มีความยาวพอสมควร ดังนั้นจึงได้แยกเป็นตอน ๆ, นี้เป็นตอนสุดท้าย, จะขอแบ่งเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""พระสังฆปริณายกได้กล่าวสรรเสริญท่านหยวนกว็อกว่า สามารถมีความเข้าใจในเรื่อง "ความไม่เกิด" (คือพระนิพพาน) ได้อย่างกว้างขวางปรุโปร่ง; แต่ท่านหยวนกว็อกได้ตั้งข้อสังเกตขึ้นมาอีกว่า ก็ใน "ความไม่เกิด" นั้นมี "ความเข้าใจ" อยู่ด้วยหรือ?""
ที่ท่านเว่ยหล่างกล่าวสรรเสริญด้วยการใช้คำว่า "ความเข้าใจ" ความประสงค์เพียงแค่ใช้เป็นภาษาสมมุติในการพูดจาเท่านั้น แต่ท่านหยวนกว็อกตอบเป็นภาษาปรมัตถ์ว่า "ในความไม่เกิดนั้น มีความเข้าใจอยู่ด้วยหรือ?".
##ประโยคที่ ๒ ""พระสังฆปริณายกย้อนตอบไปว่า ไม่มี "ความเข้าใจ) แล้วใครเล่าที่สามารถชี้ระบุตัวตน?"" เมื่อท่านเว่ยหล่างเห็นว่า ท่านหยวนกว็อกพูดเป็นภาษาปรมัตถ์, จึงตอบไปในลักษณะแหย่เป็นภาษาปรมัตถ์ด้วย เพื่อเป็นการทดสอบถึงสติปัญญาของท่านหยวนกว็อกว่า....
"ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว ใครเล่าที่สามารถชี้ระบุตัวตน?" หมายความว่า จะเห็นตัวตนได้ จะละตัวตนได้นั้น ต้องอาศัย "ความเข้าใจ" เป็นผู้ชี้ ถ้าไม่มีความเข้าใจแล้ว การละตัวตนก็มีไม่ได้; ทีนี้มาดูคำตอบของท่านหยวนกว็อกกัน.
##ประโยคที่ ๓ ""ท่านหยวนกว็อก (กล่าวตอบว่า) สิ่งที่ชี้ระบุตัวตนนั้น หาใช่ "ความเข้าใจ" ไม่; พระสังฆปริณายกร้องขึ้นว่า สาธุ! แล้วได้ขอร้องให้ท่านหยวนกว็อกยับยั้งการกลับไว้ก่อน แล้วค้างคืนด้วยกันสักคืนหนึ่ง เพราะเหตุนี้เอง
ท่านหยวนกว็อกจึงเป็นผู้ที่พวกเพื่อน ๆ ในสมัยเดียวกันขนานนามว่า "ผู้รู้ซึ่งเคยค้างคืนกับพระสังฆปริณายก"" ทั้งตัวตนและความเข้าใจ ล้วนแต่เป็นสิ่งปรุงแต่ง (สังขตะ) ดังนั้น สภาวะแห่งความไม่เกิด กล่าวคือ พระนิพพาน จะประจักษ์แจ้งออกมาได้ ต้องหมดทั้งตัวตนและความเข้าใจ.
##ประโยคที่ ๔ ""ต่อมาภายหลังท่านหยวนกว็อกได้ประพันธ์วรรณกรรมอันมีชื่อเสียงเรื่อง "บทขับเกี่ยวกับการบรรลุทางฝ่ายใจ" ซึ่งแพร่หลายไปอย่างกว้างขวาง เมื่อมรณภาพแล้ว ท่านได้รับสมัญญาว่า "ปรมาจารย์วู่เช็ง" (ซึ่งแปลว่า ผู้อยู่เหนือสิ่งต่าง ๆ ในโลก)
พวกเพื่อน ๆ สมัยเดียวกันกับท่าน พากันเรียกท่านอีกนามหนึ่งว่า ธยานาจารย์ชุนกว็อก (ซึ่งแปลว่า ท่านที่รู้จริง)"" ท่านหยวนกว็อกมีความรู้ทั้งทางด้านพหูสูตและทางด้านวิปัสสนาญาณ; ความรู้ด้านพหูสูตก็กว้างขวาง, ความรู้ด้านวิปัสสนาก็ลึกซึ้ง. (๓ มี. ค.๖๒)