#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#จิตไม่เกาะกับสิ่งใด
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๗, ว่าด้วยคำสอนอันเหมาะแก่อุปนิสัยฯ, หน้า ๑๐๗; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""เมื่อได้ฟังดังนั้น ภิกษุจิหว่างจึงออกเดินทางไปยังโซกาย เพื่อไต่ถามพระสังฆปริณายก; เมื่อพระสังฆปริณายกถามว่า มาแต่ไหนแล้ว, ภิกษุจิหว่างก็ได้เล่าเรื่องราวที่ตนได้สนทนากับภิกษุอันแช็ก ให้พระสังฆปริณายกฟังโดยละเอียด""
ภิกษุจิหว่าง เป็นศิษย์พระสังฆปริณายกองค์ที่ห้า แต่ยังไม่เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ ส่วนภิกษุอันแช็ก เป็นศิษย์พระสังฆปริณายกองค์ที่หก เป็นผู้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้แล้ว, และได้แนะนำให้ภิกษุจิหว่างไปพบกับอาจารย์ของตน.
##ประโยคที่ ๒ ""พระสังฆปริณายกได้กล่าวว่า "ข้อความที่อันแช็กพูดนั้น ถูกต้องทีเดียว; จงทำใจของท่านให้อยู่ในสภาพเหมือนกับความว่างอันหาขอบเขตไม่ได้, แต่อย่าให้มันเข้าไปติดในทิฏฐิว่า 'ดับสูญ' จงให้ใจทำหน้าที่ของมันอย่างอิสระ""
พระสังฆปริณายกองค์ที่หกได้กล่าวยืนยันต่อภิกษุจิหว่างว่า ที่ภิกษุอันแช็กพูดนั้นเป็นความถูกต้อง และท่านก็ได้แนะนำว่า จงทำจิตใจให้ว่างอันหาขอบเขตไม่ได้, ให้จิตใจทำหน้าที่อย่างอิสระไม่ติดขัด.
##ประโยคที่ ๓ ""ไม่ว่าท่านจะกำลังทำงานหรือหยุดพัก จงอย่าให้ใจของท่านเกาะเกี่ยวในสิ่งใด, จงอย่าไปรู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคลกับบุคคลธรรมดา, อย่าไปคิดว่า มีความแตกต่างระหว่างตัวผู้กระทำกับสิ่งที่ถูกกระทำ""
ท่านกล่าวในทำนองว่า ถ้าเห็นแจ้งอยู่กับจิตเดิมแท้ แสดงว่า เป็นจิตใจที่ไม่เกาะเกี่ยวอยู่กับสิ่งใด ไม่ติดพันอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เช่น รู้สึกว่า มีความแตกต่างระหว่างอริยบุคคลกับบุคคลธรรมดา เป็นต้น.
##ประโยคที่ ๔ ""จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นเช่นนั้น แล้วท่านก็จะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา; เมื่อได้ฟังดังนั้น จิหว่างก็มีความสว่างไสวในใจถึงที่สุด, ความคิดที่ว่า ตนได้บรรลุสมาธิแล้วตั้งยี่สิบปีนั้น บัดนี้ได้สูญสิ้นไป""
ท่านชี้ให้เห็นว่า การปล่อยวางไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งใด นั่นแหละคือ สมาธิที่แท้จริงและสูงสุด เป็นสมาธิในระดับโลกุตรธรรม มิใช่สมาธิแบบหินทับหญ้า.
##ประโยคที่ ๕ ""ในคืนวันนั้นเอง พวกชาวบ้านโฮเป่ย (ทางฝั่งเหนือของแม่น้ำเหลือง) ได้ยินเสียงอัศจรรย์ในท้องฟ้า ซึ่งแสดงว่าท่านอาจารย์จิหว่างแห่งนิกายธยานะ ได้รู้ธรรมในวันนั้น;
ต่อมาอีกไม่นาน ภิกษุจิหว่างได้อำลาพระสังฆปริณายกกลับไปโฮเป่ย อันเป็นที่ซึ่งท่านได้สั่งสอนมหาชนหญิงชายเป็นจำนวนมาก ทั้งบรรพชิตและคฤหัสสืบมา"" ธรรมะแท้อยู่เหนือคำพูด, อยู่เหนือการบัญญัติ, อยู่เหนือกิริยาท่าทาง. (๒๔ เม. ย.๖๒)