#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตเดิมแท้ไร้หลักการ#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๘, หน้า ๑๑๕; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""พระสังฆปริณายก (องค์ที่หก) กล่าวว่า ถ้าฉันบอกท่านว่า ฉันมีหลักการในเรื่องธรรมะสำหรับสอนผู้อื่นแล้ว ก็เท่ากับว่าฉันหลอกลวงท่าน"" ชิชิงผู้เป็นศิษย์ท่านชินเชาได้กล่าวกับท่านเว่ยหล่างในทำนองว่า "ตนเองอยากจะทราบว่า ท่านเว่ยหล่างมีหลักการอะไรบ้างในการสอนธรรมะ" 

      ท่านเว่ยหล่างจึงตอบไปว่า "ถ้าฉันบอกท่านว่าฉันมีหลักการในเรื่องธรรมะสำหรับสอนผู้อื่นแล้ว ก็เท่ากับว่าฉันหลอกลวงท่าน" ท่านเว่ยหล่างต้องการจะชี้ให้เห็นว่า สัจธรรม กล่าวคือ จิตเดิมแท้ เป็นสภาวะที่ไร้ความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง แม้แต่คำว่า "มีหลักการ" ก็เป็นเพียงมายาของความคิด.

      ##ประโยคที่ ๒ ""วิธีที่ฉันสอนลูกศิษย์ของฉัน ก็ปลดปล่อยเขาให้พ้นจากความเป็นทาสของตัวเขาเองด้วยวิธีต่าง ๆ แล้วแต่จะเห็นควร, การเรียกชื่อเป็นอย่างนี้อย่างนั้น ไม่เกิดอะไรดีขึ้นมา, นอกจากเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้แทนเพียงชั่วคราวเท่านั้น"" 

      ท่านย้ำว่า วิธีการสอนของท่านนั้น ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม ดูจังหวะ ดูเวลา ท่านจึงกล่าวว่า "แล้วแต่จะเห็นสมควร การเรียกชื่ออย่างนี้อย่างนั้น ไม่เกิดอะไรดีขึ้นมา นอกจากเป็นเพียงเครื่องมือที่นำมาใช้เพียงชั่วคราวเท่านั้น" ยึดติดในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งบดบังสัจธรรม.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ภาวะแห่งการหลุดพ้นนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นสมาธิ"" ภาวะแห่งการหลุดพ้น หมายถึง จิตเดิมแท้นั่นเอง, สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ นั่นแหละคือ สมาธิที่แท้จริง, ถาม..เพราะอะไร ? ตอบ..เพราะว่า จิตเดิมแท้เป็นอสังขตธรรม คือ สภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง; 

      สมาธิของจิตเดิมแท้ มีคุณสมบัติอยู่ ๓ อย่าง ได้แก่: ๑) ปริสุทโธ คือ ความบริสุทธิ์, จิตเดิมแท้นั่นแหละ มีความบริสุทธิ์จริง ไม่มีความปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง. ๒) สมาหิโต คือ ความตั้งมั่น จิตเดิมแท้มีความตั้งมั่นถึงที่สุด. และ ๓) กัมมนีโย คือ ควรแก่การงาน จิตเดิมแท้มีสมรรถนะในการทำหน้าที่ทุกชนิด.

      ##ประโยคที่ ๔ ""วิธีที่อาจารย์ของท่านสอนถึงศีล สมาธิ และปรัชญา เป็นวิธีที่ดีวิเศษ แต่วิธีของฉันเป็นคนละอย่าง"" ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวกับชิชิงในทำนองว่า ที่ท่านชินเชาสอนเรื่อง ศีล สมาธิ และปรัชญานั้น ก็เป็นวิธีที่ดีมาก ๆ เช่น ที่สอนว่า.....

      การละเว้นจากการกระทำชั่วทั้งปวง เรียกว่า ศีล, การปฏิบัติแต่ความดี เรียกว่า ปรัชญา. และการชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ เรียกว่า สมาธิ เป็นต้น; ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวต่อไปว่า "แต่วิธีของฉันเป็นคนละอย่าง" ก็คือ ไม่ยึดติดอยู่กับหมวดธรรมต่าง ๆ แต่ใช้วิธีสอนตามความเหมาะสมของสถานการณ์. (๒๙ มิ. ย.๖๒)

No comments yet...

Leave your comment

94752

Character Limit 400