#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตหนึ่งไม่เพิ่มไม่ลด#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๓๖, หน้า ๘๒; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :- 

      ##ประโยคที่ ๑ ""ตามที่จริงแล้ว ไม่มีความทวีตัวเป็นความอเนกอนันต์แห่งรูปทั้งหลาย, ไม่มีความรุ่งเรืองอย่างสวรรค์"" ที่ว่า ไม่มีความทวีตัวเป็นความอเนกอนันต์แห่งรูป หมายความว่า จิตหนึ่ง ไม่มีความคิดปรุงแต่งทุกชนิด,

      วลีนี้ท่านอาจารย์พุทธทาสแสดงความเห็นไว้ว่า "รูปในที่นี้ หมายถึงทั้งสิ่งที่มีรูปหรือลักษณะของสิ่งที่ไม่มีรูป" ฉะนั้นรูปในที่นี้ รวมทั้งรูปที่เป็นปรากฏการณ์ภายนอก และรูปที่เป็นความคิดปรุงแต่งด้วย เรียกว่า รูปมายาของสังขตะ; ที่ว่า ไม่มีความรุ่งเรืองอย่างสวรรค์ หมายความว่า จิตหนึ่งปราศจากความคิดปรุงแต่งเรื่องสวรรค์ ไม่คิดหลงไหลมัวเมาสวรรค์.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ไม่มีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์ หรือไม่มีการยอมจำนนต่อผู้ชนะ เนื่องจากไม่มีใครมีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์"" ที่ว่า ไม่มีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์ หมายความว่า สภาวะของจิตหนึ่ง ว่างจากความคิดว่า มีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์;

      ที่ว่า ไม่มีการยอมจำนนต่อผู้ชนะ หมายความว่า จิตหนึ่ง ไม่มีความคิดว่า ฉันเป็นผู้ยอมจำนนต่อผู้ชนะ; ที่ว่า เนื่องจากไม่มีใครมีชัยชนะอย่างรุ่งโรจน์ หมายความว่า ที่มีความคิดว่ามีชัยชนะ มีผู้ยอมจำนนต่อผู้ชนะ ก็เพราะมีความคิดว่า "มีผู้ชนะ" นั่นเอง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ดังนั้นจึงไม่อาจมีการได้สามัญญาตามแบบฉบับว่า ใครได้เป็นพุทธะสักองค์หนึ่ง"" คนทั่วไปจะมีความคิดว่า พระพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้ ณ ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเรียกกันในปัจจุบันว่า พุทธคยา ก็เพราะมีชัยชนะมารอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะ ก็คือ กิเลสมาร.

      ท่านฮวงโปต้องการชี้ให้เห็นว่า ธรรมชาติของจิตหนึ่ง ว่างจากความคิดว่า มีใครได้เป็นพุทธะ; คำว่า "ใคร" หมายถึง ความคิดที่เป็นอัตตา, ไม่มีใคร ก็คือ ไม่มีอัตตาตัวตน.

      ##ประโยคที่ ๔ ""และเนื่องจากไม่มีการพ่ายแพ้ จึงไม่อาจมีการได้สมัญญาตามแบบฉบับนั้น ๆ ว่าใครเป็นสามัญสัตว์ไปได้เลย"" สภาวะของจิตหนึ่ง เป็นธรรมชาติที่ว่างจากความคิดว่า มีการพ่ายแพ้ ที่ไม่มีความคิดว่า มีการพ่ายแพ้ ก็เพราะไม่มีความคิดว่า มีผู้พ่ายแพ้

      คำว่า "ผู้" จะเรียกว่า เป็นอัตตา ก็ได้เหมือนกัน คือความคิดว่า ตน, เพราะมีตน จึงมีความคิดว่า พ่ายแพ้, ฉันพ่ายแพ้ กูพ่ายแพ้ แต่ถ้าไม่มี "ตน" อย่างเดียว, ทุกอย่างก็ไม่มี. (๒๘ ส. ค.๖๒) 

No comments yet...

Leave your comment

57244

Character Limit 400