#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ไม่ต้องพยายาม#!!!
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๘, หน้า ๑๒๑; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ทันใดนั้น จางก็บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ และกล่าวโศลกแก่พระสังฆปริณายกว่า: เพื่อที่จะชี้ข้อผิดแก่ผู้ยึดมั่นใน "ความไม่ถาวร" สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสสอน ธรรมชาติที่ถาวร""
นี้เป็นตอนสุดท้ายในบทที่ท่านเว่ยหล่างสนทนากับจาง และจางได้เข้าถึงความเห็นแจ้งโดยสมบูรณ์; จางได้แสดงความเห็นในทำนองว่า การที่คนทั่วไปยึดมั่นอยู่กับความไม่ถาวร พระพุทธองค์จึงตรัสสอนความถาวร เพื่อให้ผู้คนได้ปล่อยวางนั่นเอง.
##ประโยคที่ ๒ ""ผู้ไม่เข้าใจว่า คำสอนนี้เป็นเพียงวิธีการอันชาญฉลาด ก็เหมือนกับเด็กที่หยิบก้อนกรวด แล้วบอกว่าเป็นเพชร""
สัจธรรมแท้ กล่าวคือ พระนิพพาน ซึ่งเป็นสภาวะดั้งเดิม เป็นธรรมชาติที่ไร้คำพูด อยู่เหนือการบัญญัติ เป็นสิ่งที่มีค่าสูงสุด เปรียบดั่งเพชร, ส่วนคำพูดต่าง ๆ แม้จะเป็นคำพูดอันชาญฉลาด เพื่อให้ผู้ฟังเข้าถึงความเห็นแจ้ง ก็ยังเปรียบด้วยก้อนกรวด ซึ่งอาจจะมีค่าบ้างเล็กน้อย.
##ประโยคที่ ๓ ""โดยไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ ในตัวข้าพเจ้าเลย ธรรมชาติแห่งพุทธะก็ปรากฏอยู่แล้ว""
ผู้ที่เห็นแจ้งสภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ซึ่งเป็นธรรมชาติอันสูงสุดนั้น เขาย่อมมีความเห็นว่า พุทธะมีอยู่แล้ว ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น, การทำ คือ การสร้างอุปาทานขึ้นมา และกลายเป็นสิ่งกีดขวางสัจธรรมแท้ กล่าวคือ สภาวะแห่งความเป็นพุทธะ ดังนั้น จางจึงยืนยันว่า ท่านไม่ต้องใช้ความพยายามใด ๆ เลย.
##ประโยคที่ ๔ ""สิ่งนี้ไม่ใช่เนื่องมาจากคำสอนของท่านอาจารย์ และก็ไม่ใช่เนื่องมาจากการบรรลุของข้าพเจ้า""
จางได้กล่าวว่า สภาวะแห่งความเป็นพุทธะนั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่ได้เกี่ยวเนื่องมาจากคำสอนของท่านเว่ยหล่าง เพราะคำสอนที่เป็นคำพูดอยู่ในฝ่ายสังขตะ แต่พุทธภาวะเป็นอสังขตะ ดังนั้น จึงไม่เนื่องกับคำสอน และไม่เกี่ยวกับการบรรลุด้วย เพราะไม่มีสิ่งที่ต้องบรรลุ ไม่มีคนผู้บรรลุ (อันนี้เป็นลักษณะของปัจจัตตัง).
##ประโยคที่ ๕ ""พระสังฆนายกชมเชยว่า เดี๋ยวนี้ท่านได้ตระหนักชัดโดยตลอดแล้ว จากนี้ไปท่านควรได้ชื่อว่า ชีไช (ผู้ตระหนักชัดโดยตลอด) ชีไชกล่าวขอบคุณพระสังฆนายกและนมัสการจากไป""
ในยุคที่ท่านเว่ยหล่างเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก เป็นยุคที่มีผู้เห็นแจ้งสัจธรรมกันมาก แม้ว่าท่านเว่ยหล่างอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่เป็น แต่ท่านมีความสามารถในการสอนธรรม จนผู้ฟังเห็นแจ้งตามได้ แสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นผู้รู้จริง. (๔ ม. ค.๖๓)