#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##"ฉัน"คือ ตัวยืนโรง?#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๕๒, หน้า ๘๗; จะแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""เมื่อเราพูดกันว่า ความรู้ที่ "ฉัน" ได้รับ, การศึกษาที่ "ฉัน" ได้กระทำ, ความเข้าใจอันลึกซึ้ง "ของฉัน", ความหลุดพ้นจากการเวียนเกิด "ของฉัน", วิถีชีวิตในทางธรรม "ของฉัน", ดังนี้นั้น ความสำเร็จของเราย่อมทำให้ความคิดเหล่านี้ รู้สึกเป็นสุขแก่เราเป็นที่สุด""
คำว่า "ฉัน" คำว่า "เรา" เป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง เมื่อมี "ฉัน" เป็นตัวยืนโรง, ความรู้ที่ฉันได้รับ ก็คือ ความรู้จอมปลอม, การศึกษาที่ฉันได้กระทำ ก็คือ การศึกษาแค่เหตุผลของความคิด, ความเข้าใจอันลึกซึ้งของฉัน ก็คือ ความเข้าใจที่เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส หมายถึง กิเลสที่มาในลักษณะของวิปัสสนา,
ความหลุดพ้นจากการเวียนเกิดของฉัน ก็คือ คิดเอาเองว่าตนหลุดพ้นแล้ว มิใช่หลุดพ้นจริง, วิถีชีวิตในทางธรรมของฉัน ก็คือ จินตนาการฝันหวานไปเอง; ท่านก็สรุปไว้ตอนท้าย ขอยกมาสั้น ๆ ว่า "ความคิดเหล่านี้ รู้สึกเป็นสุขแก่เรา", ทั้งความคิด ทั้งความรู้สึกที่เป็นสุข และทั้งคำว่า "เรา" ล้วนแต่เป็นมายาของความปรุงแต่ง ซึ่งเป็นสิ่งบดบังสัจธรรมแท้.
##ประโยคที่ ๒ ""แต่ความพลาด ทำให้มันดูน่าทุเรศไป ทั้งหมดนั้น จะเป็นประโยชน์อะไรที่ไหนกัน?""
ท่านฮวงโปได้ชี้ให้เห็นว่า ทั้งหมดที่ท่านยกขึ้นมากล่าวนั้น เป็นความพลาดและไม่มีประโยชน์อะไรเลย เพราะอะไร ? เพราะว่า สิ่งเหล่านั้น เป็นลักษณะของสังขตธรรมทั้งสิ้น คือ ภาวะแห่งความคิดปรุงแต่ง เป็นภาวะแห่งความรู้สึกปรุงแต่ง มิใช่สัจธรรมที่แท้จริง, สิ่งที่เรียกว่า สัจธรรมแท้ เป็นอสังขตธรรม คือ สภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง กล่าวคือ ความว่าง (สุญญตา)
ถาม..ว่างจากอะไร ?, ตอบ..ว่างจากความคิดว่า "ฉัน"; ว่างจากความคิดว่า "ความรู้ที่ฉันได้รับ", ว่างจากความคิดว่า "การศึกษาที่ฉันได้กระทำ", ว่างจากความคิดว่า "ความเข้าใจอันลึกซึ้งของฉัน", ว่างจากความคิดว่า "ความหลุดพ้นจากการเวียนเกิดของฉัน", ว่างจากความคิดว่า "วิถีชีวิตในทางธรรมของฉัน", และว่างจากความคิดว่า "ความสำเร็จของเรา รู้สึกเป็นสุขแก่เราเป็นที่สุด"; สุญญตา คือ ว่างอย่างไร้ขอบเขตจำกัด. (๖ ก. พ.๖๓)