#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##สมาธิแท้ คือจิตว่าง##!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๕- ๑๒๖; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""เมื่อเข้าไปนมัสการสนทนากับพระสังฆนายก, ชิตกันได้กล่าวว่า "บรรดาผู้เชี่ยวชาญทางธยานะในเมืองหลวง ต่างได้แนะนำประชาชนเป็นอย่างเดียวกัน ให้นั่งขัดสมาธิเข้าสมาธิ ท่านเหล่านั้นบอกว่า เป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะตระหนักชัดถึงหลักธรรมได้ ขอให้ข้าพเจ้าได้ทราบถึงแนวคำสอนของพระคุณท่านบ้างได้ไหมครับ?""

      ข้อความนี้เนื่องมาจากตอนที่แล้ว คือว่า ชิตกันได้นำพระบรมราชโองการของพระมหาจักรพรรดิ เพื่อมานิมนต์ให้ท่านเว่ยหล่างเข้าไปในเมืองหลวง แต่ได้รับการปฏิเสธ; ชิตกันจึงสอบถามเกี่ยวกับหลักธรรม ท่านเว่ยหล่างจึงตอบไปว่า..

      ##ประโยคที่ ๒ ""หลักธรรมนั้น จะตระหนักชัดได้ด้วยจิต (พระสังฆนายกตอบ) และไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งขัดสมาธิ""

      คำว่า หลักธรรมในที่นี้ หมายถึง จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความอิสรภาพเสรีภาพ ว่างจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง; จิตที่ท่านกล่าวถึง ก็คือ จิตเดิมแท้เช่นกัน, คำว่า หลักธรรมกับคำว่า จิต เป็นสิ่งเดียวกัน; ท่านจึงกล่าวตอบชิตกันไปในทำนองว่า หลักธรรมนั้น จะตระหนักชัดได้ก็ด้วยจิต ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนั่งขัดสมาธิหรือไม่ขัดสมาธิ; จิตเดิมแท้เป็นภาวะที่เห็นได้ในทุกอิริยาบถ ร่างกายเคลื่อนไหว จิตใจว่างก็ได้.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ในวัชรักเขทิกสูตรก็กล่าวว่า เป็นการผิดที่ใคร ๆ จะยืนยันว่า ตถาคตมาหรือไปและนั่งหรือนอน เพราะเหตุใดหรือ? เพราะว่า สมาธิแห่งความบริสุทธิ์ของตถาคต ไม่ได้หมายความว่า มาจากแห่งใดหรือไปที่แห่งใด""

      คำว่า ตถาคต หมายถึง จิตว่าง (สุญญตา) หรือจิตเดิมแท้ เป็นภาวะที่ไม่มีความคิดว่า "มา" ไม่มีความคิดว่า "ไป" ไม่มีความคิดว่า "นั่ง" ไม่มีความคิดว่า "นอน"; จิตเดิมแท้นั่นแหละคือ สมาธิแห่งความบริสุทธิ์ของตถาคต, สมาธิที่แท้จริง คือ สมาธิของจิตเดิมแท้นั่นเอง ซึ่งปราศจากความปรุงแต่ง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ไม่ได้หมายความว่า มีการเกิดหรือการดับ ธรรมทั้งหลายย่อมสงบและว่างเปล่า""

      การเกิดการดับ เป็นลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง (สังขตธรรม) เป็นความคิดปรุงแต่งก็ได้ ความรู้สึกปรุงแต่งก็ได้; ที่ว่า ความคิดปรุงแต่ง เช่น คิดในเรื่องของกามบ้าง คิดในเรื่องพยาบาทบ้าง คิดอิจฉาริษยาบ้าง คิดโลภอยากได้ของผู้อื่นบ้าง เป็นต้น; ที่ว่า ความรู้สึกปรุงแต่ง เช่น รู้สึกดีใจพอใจ รู้สึกเสียใจเศร้าใจ รู้สึกเบื่อ รู้สึกเซ็ง เป็นต้น สิ่งปรุงแต่งเหล่านี้ มีลักษณะเกิด- ดับ, สิ่งทั้งหลาย นิ่งสงบ และว่างสงัดเงียบ.

      ##ประโยคที่ ๕ ""โดยทำนองเดียวกัน บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ของตถาคตก็เป็นเช่นนั้น พูดอย่างตรง ๆ แล้ว ไม่มีแม้แต่สิ่งเหล่านี้ที่จะบรรลุได้ ด้วยเหตุนี้ ทำไมเราจะต้องทรมานตัวเองด้วยการนั่งขัดสมาธิ""

      ท่านใช้คำว่า "บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ของตถาคต" ก็คือ จิตว่าง (สุญญตา) หรือจิตเดิมแท้อีกนั่นเอง; จิตว่างนั่นแหละคือ บัลลังก์แห่งความบริสุทธิ์ที่แท้จริง การเห็นแจ้งจิตว่าง สามารถเห็นได้ในทุกอิริยาบถ ไม่ใช่ว่า ต้องนั่งขัดสมาธิจึงจะเห็น; ไม่แน่ การนั่งขัดสมาธิ อาจจะกลายเป็นการเพิ่มอุปาทานก็ได้. (๕ มี. ค.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

33398

Character Limit 400