#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ความคิด คืออุปสรรค#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๕๗, หน้า ๘๘- ๘๙; ขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ในกรณีที่มีอุปสรรคต่อการปฏิบัติธรรม เกิดขึ้นมาจากการคิดค้นอย่างคติทวินิยมนั้น ท่านโพธิธรรมแนะให้แก้ไขด้วยการที่ท่านเพียงแต่ชี้ตรงไปยังจิต""
การค้นหาสัจธรรม กล่าวคือ จิตหนึ่ง ด้วยการใช้เหตุผลของความคิด เรียกว่า การคิดค้นอย่างคติทวินิยม ท่านกล่าวว่า เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความเห็นแจ้ง; คำว่า จิตในความหมายของท่านฮวงโป ก็คือ จิตหนึ่ง เป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง จิตหนึ่งเป็นธรรมชาติที่อยู่อีกมิติหนึ่ง ซึ่งต่างไปจากจิตที่เป็นนามธรรม.
##ประโยคที่ ๒ ""และเนื้อหาอันแท้จริงดั้งเดิมของเรา ในฐานะซึ่งตามความจริงแท้แล้ว เป็นพุทธะอยู่แล้วทั้งหมด""
จิตหนึ่งกับพุทธะ คือ ภาวะอันเดียวกัน, สิ่งที่เรียกว่า เนื้อหาอันแท้จริงดั้งเดิม หมายถึง จิตหนึ่งหรือพุทธะ นั่นเอง ท่านชี้ให้เห็นว่า จิตหนึ่งหรือพุทธะ ซึ่งเป็นเนื้อหาอันแท้จริงดั้งเดิมนั้น มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว, สิ่งที่เรียกว่า ความคิดปรุงแต่งหรือความทุกข์ต่าง ๆ มีลักษณะจรเข้ามาทีหลัง เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และจางคลายดับไปในที่สุด ฉะนั้น วิธีปฏิบัติก็คือ ป้องกันไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิด.
##ประโยคที่ ๓ ""ท่านมิได้มอบวิธีการผิด ๆ ในการทำตนเองให้สมบูรณ์ มาให้เลย""
การเข้าถึงความเห็นแจ้งจิตหนึ่ง มีทางเดียวเท่านั้น ก็คือ ทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ผู้ที่ตระหนักรู้แจ้งชัดอยู่กับจิตหนึ่ง เรียกว่า อยู่ในทางสายกลาง; ท่านฮวงโปกล่าวในทำนองว่า พระโพธิธรรม มิได้มอบวิธีปฏิบัติที่ผิด ๆ ในการทำตนให้สมบูรณ์ หมายความว่า ท่านไม่ได้แนะนำวิธีอื่นใด นอกจากการชี้ไปที่จิตหนึ่งอย่างเดียว การเผชิญหน้าเห็นแจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง ชื่อว่า การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง.
##ประโยคที่ ๔ ""ท่านมิได้เป็นพวกนิกายแบบที่มีการบรรลุอย่างค่อยเป็นค่อยไป""
ท่านฮวงโปได้ชี้ให้เห็นว่า วิธีการสอนของพระโพธิธรรมนั้น มิได้สอนแบบพวกนิกายที่มีการบรรลุอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยกตัวอย่าง การฝึกไปตามลำดับของรูปฌานสี่ เช่น ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน และจตุตถฌาน เป็นต้น แต่ท่านชี้ไปที่จิตหนึ่งโดยตรง เรียกว่า บรรลุกันแบบฉับพลันเลยทีเดียว; การบรรลุอย่างค่อยเป็นค่อยไป ก็คือ การเปลี่ยนสิ่งที่ยึดเหนี่ยว (อุปาทาน) เช่น วางจากปฐมฌาน แล้วมายึดทุติยฌาน เป็นต้น แต่พระโพธิธรรมสอนให้เปลื้องทิ้งจนหมดสิ้น. (๑๕ มี. ค.๖๓)