#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##สูงสุด คือ จิตหนึ่ง#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๑๕๘, หน้า ๘๙; จะขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""หลักคำสอนของท่านไม่ยอมรับว่า มีสิ่งที่มีคุณลักษณะอันทำให้ได้ชื่อ สว่างและมืด""

      ข้อความดังกล่าว ท่านฮวงโปได้ปรารภถึงหลักคำสอนของพระโพธิธรรมว่า ไม่ยอมรับสิ่งที่มีคุณลักษณะอันทำให้ได้ชื่อว่า สว่างและมืด เพราะสิ่งที่เรียกว่า ความสว่างความมืด คือ คติทวินิยมของความคิดปรุงแต่ง; จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ คือ สภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตธรรม) ซึ่งเป็นสิ่งสูงสุดในทางพระพุทธศาสนา ถ้ามีสว่างก็ต้องมีมืด ถ้ามีขาวก็ต้องมีดำ แต่สัจธรรมแท้ไร้ของคู่ทุกชนิด.

      ##ประโยคที่ ๒ ""เมื่อสิ่งนั้นไม่ใช่ความสว่าง ก็จงดูให้เห็นว่า ไม่มีความสว่างอะไรที่ไหน!""

      ที่ท่านกล่าวว่า "สิ่งนั้น" หมายถึง จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสัจธรรมแท้ สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ไม่มีแสงสว่าง บางคนจินตนาการสร้างแสงสว่างขึ้นมาเอง, จิตใจมีความสว่างไสวในภายใน ความสว่างที่ตนเองคิดสร้างขึ้นมา เป็นกิเลสชนิดหนึ่ง เรียกว่า วิปัสสนูปกิเลส คือ กิเลสที่เกิดขึ้นในลักษณะของวิปัสสนา บาลีใช้คำว่า โอภาส แปลว่า แสงสว่าง, มีบางคนกล่าวว่า จิตเป็นดวงสว่างอยู่กลางกาย ที่จริงไม่มี คิดไปเอง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อสิ่งนั้นไม่ใช่ความมืด ก็จงดูให้เห็นว่า นั่นมันไม่มีความมืดอะไรที่ไหน!""

      สภาวะของจิตหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมชาติแห่งความว่างชนิดที่ไร้ขอบเขตจำกัด เป็นสิ่งที่ปราศจากความมืด ท่านใช้คำว่า ไม่ใช่ความมืด, จิตหนึ่งไม่ใช่ความมืด ว่างจากความมืด; ทั้งความสว่างและความมืด เป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง ถ้าพูดอีกแง่มุมหนึ่งก็ได้ว่า แม้แต่ความสว่าง ก็คือ ความมืดอย่างหนึ่งเหมือนกัน เรียกว่า "ความมืดสีขาว" ความคิดปรุงแต่ง ไม่ว่าคิดดีหรือคิดชั่ว ล้วนแต่ทำให้จิตใจมืด.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ดังนั้น จึงมีตามมาว่า ไม่มีความมืดหรือปลายสุดของความมืด""

      คำว่า ปลายสุดของความมืด หมายถึง การดับลงของความมืดนั่นเอง ซึ่งเป็นลักษณะของสิ่งปรุงแต่ง (สังขตธรรม) มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีการแปรปรวนในท่ามกลาง และมีการแตกสลายดับไปในที่สุด แต่สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่งหรือพระนิพพาน เป็นอสังขตธรรม คือ สภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ไม่มีเบื้องต้นของความมืด คือ ความมืดไม่เกิด ดังนั้น จึงไม่มีปลายสุดของความมืด. (๒๑ มี. ค.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

13564

Character Limit 400