#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##จิตเดิมแท้ คือถาวรจริง#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๗; จะนำมาเขียนสัก ๖ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ชิตกันถามว่า "ถ้ากระนั้น คำสอนของสำนักมหายานได้แก่อะไร?" พระสังฆนายกตอบว่า "ในทัศนะของสามัญชน ปัญญาและอวิชชา เป็นของสองสิ่งแยกจากกัน""

      คำว่า สามัญชน หมายถึง ปุถุชนธรรมดาทั่ว ๆ ไป เขาจะมีความเข้าใจว่า ปัญญาเป็นฝ่ายดี เป็นสิ่งที่ประเสริฐ ส่วนอวิชชาเป็นสิ่งที่ไม่ดี อยู่ในฝ่ายเสื่อม และให้ความสำคัญกับปัญญา พยายามพัฒนาเพิ่มพูนความรู้ให้มากยิ่ง ๆ ขึ้นไป เรียกว่า ยินดีในปัญญา แต่ยินร้ายในอวิชชา.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ส่วนคนฉลาด ผู้ได้ตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิตโดยตลอดแล้ว ย่อมรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ มีธรรมชาติเป็นอย่างเดียวกัน; ธรรมชาติอันเป็นอย่างเดียวกัน หรือธรรมชาติอันไม่เป็นของคู่นี้ คือสิ่งที่เรียกว่า ธรรมชาติที่แท้จริง""

      ท่านเว่ยหล่างได้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ฉลาดซึ่งตระหนักแจ้งชัดอยู่กับจิตเดิมแท้นั้น มองเห็นว่า ระหว่างปัญญากับอวิชชา ก็คือ สิ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน หมายถึง อยู่ในกลุ่มของความคิดปรุงแต่ง ปัญญาจำ ปัญญาคิด ก็ปรุงแต่ง, อวิชชา ความไม่รู้ก็ปรุงแต่ง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ซึ่งในกรณีของสามัญชนหรือคนโง่ ก็ไม่ได้มีน้อยลง และในกรณีของปราชญ์ผู้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว ก็ไม่ได้มีมากขึ้น""

      สภาวะที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์นั้น ท่านกล่าวว่า ระหว่างสามัญชนหรือคนโง่ กับปราชญ์ผู้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว มิได้มีความแตกต่างกัน, ไม่ใช่ว่า ถ้าเป็นสามัญชน สภาวะจิตเดิมแท้ จะมีน้อยลง หรือถ้าเป็นปราชญ์ผู้บรรลุความเห็นแจ้งแล้ว จะมีมากขึ้น ท่านย้ำว่า จิตเดิมแท้นั้นเหมือนกัน.

      ##ประโยคที่ ๔ ""เป็นสิ่งที่ไม่ได้ไหวสะเทือนในสภาพที่มีความวุ่นวาย และก็ไม่ได้สงบนิ่งในสภาพที่มีสมาธิ; ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ถาวร และก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ถาวร""

      ท่านกล่าวว่า สภาวะแห่งจิตเดิมแท้ เป็นสิ่งที่ไม่หวั่นไหวสะเทือน แม้ว่าภายนอกจะวุ่นวายสับสน และก็ไม่ได้สงบนิ่งในลักษณะแข็งทื่อ (สงบแบบหินทับหญ้า) ในขณะที่เป็นสมาธิแบบไม่ใช้พลังงาน (จิตพักนิ่ง ๆ); ถาวรและไม่ถาวรเป็นลักษณะของความคิดปรุงแต่ง, จิตเดิมแท้ ว่างจากความคิดเหล่านี้.

      ##ประโยคที่ ๕ ""ไม่ได้ไปหรือมา, ไม่อาจพบได้จากภายนอก และก็ไม่อาจพบได้จากภายใน, หรือไม่อาจพบได้ในอวกาศ ซึ่งอยู่ในระหว่างสิ่งทั้งสองนี้, เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่""

      คำว่า "ไปหรือมา" ใช้กับสิ่งที่ปรุงแต่ง (สังขตะ); จิตเดิมแท้ ไม่ได้อยู่ภายนอก, จิตเดิมแท้ มิได้อยู่ภายใน, จิตเดิมแท้ มิได้อยู่ตรงกลางระหว่างภายนอกกับภายใน; และท่านชี้ให้เห็นว่า เป็นภาวะที่อยู่เหนือความคิดว่า มีอยู่ และความคิดว่า ไม่มีอยู่.

      ##ประโยคที่ ๖ ""เป็นสิ่งที่มีธรรมชาติและปรากฏการณ์อยู่ในสภาพความเป็นเช่นนั้นตลอดไป เป็นสิ่งที่ถาวรและไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนี้แหละคือ หลักธรรม""

      จิตเดิมแท้เป็นธรรมชาติแห่งความเป็นเช่นนั้นเอง ที่เรียกว่า ตถตาหรือตถาตา และท่านยืนยันว่า เป็นสิ่งที่ถาวรไม่เปลี่ยนแปลง, คำว่า "ถาวร" ในที่นี้ ไม่ใช่ถาวรที่เป็นคู่กับไม่ถาวร ซึ่งเป็นลักษณะของความคิดปรุงแต่ง แต่เป็นความถาวรชนิดที่อยู่เหนือสิ่งคู่ ท่านกล่าวว่า นั่นแหละคือ หลักธรรม. (๒๓ มี. ค.๖๓)      

No comments yet...

Leave your comment

98316

Character Limit 400