#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ประตูธรรม คือไร้ประตู#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๕๙, หน้า ๘๙; จะขอแบ่งออกเป็น ๖ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ใครก็ตาม ที่เข้ามาสู่ประตูแห่งนิกายของเรา เขาต้องจัดการกับทุก ๆ สิ่ง ด้วยอำนาจของสติปัญญาล้วน ๆ เท่านั้น""

      คำว่า "เข้าสู่ประตูแห่งนิกาย" ไม่ใช่มาสังกัดนิกายเซนข้างนอกที่เป็นรูปแบบ แต่หมายถึง จิตใจเข้าถึงความเห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง พ้นไปจากกำแพงแห่งความคิดปรุงแต่งได้, ท่านกล่าวในทำนองว่า การที่จะเห็นแจ้งจิตหนึ่งได้ ต้องอาศัยสติปัญญาล้วน ๆ เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยวิธีอื่นใด.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ความรู้สึกด้วยใจจริงชนิดนี้เท่านั้น ที่เรียกว่า ธรรมะ""

      ท่านยืนยันว่า ต้องรู้แจ้งเห็นแจ้งต่อจิตหนึ่งด้วยความจริงใจเท่านั้น จึงจะเรียกว่า เป็นธรรมะแท้, ผู้ที่ประจักษ์อยู่กับจิตหนึ่ง ชื่อว่า เป็นผู้มีความรู้สึกจริงใจ; ความว่างชนิดที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง เปี่ยมอยู่ด้วยสติปัญญา นั่นแหละคือ ความจริงใจที่แท้ ไม่มีกิเลสเข้ามาเจือปน.

      ##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อถูกรู้อย่างประจักษ์แล้ว เราย่อมพูดถึงพุทธะได้""

      เมื่อมีปัญญาญาณประจักษ์แจ้งต่อจิตหนึ่งหรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ แสดงว่า เป็นผู้เข้าถึงพุทธะ เพราะคำว่า จิตหนึ่งกับพุทธะ เป็นสิ่งเดียวกัน เห็นจิตหนึ่ง ก็คือ เห็นพุทธะ; พระพุทธเจ้าที่เป็นพระบรมศาสดา พระองค์ปรินิพพานไปแล้ว แต่พระพุทธเจ้าที่เป็นสัจธรรม ยังมีอยู่ ก็คือ พุทธภาวะ.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ครั้นรู้ประจักษ์ต่อไปว่า โดยความจริงแล้ว ไม่มีทั้งธรรมะ ไม่มีทั้งพุทธะ นั่นเรียกว่า เข้าถึงสังฆะ""

      ทำไมท่านจึงกล่าวในลักษณะปฏิเสธว่า ไม่มีทั้งธรรมะ ไม่มีทั้งพุทธะ เพราะคนส่วนมากมักยึดติดอยู่กับคำพูดหรือตัวอักษร พอพูดว่า ธรรมะ พุทธะ ก็เกิดธรรมะ พุทธะที่เป็นความคิดขึ้นมา ดังนั้นท่านจึงกล่าวเพื่อจะได้เปลื้องความคิดออกไปให้หมด และนั่นแหละคือ สังฆะแท้.

      ##ประโยคที่ ๕ ""หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่ง ก็เรียกว่า "บรรพชิตผู้อยู่เหนือกรรมทั้งปวง" นั่นเอง""

      ที่ได้เขียนไปบ้างแล้วว่า กรรม แปลว่า การกระทำ โดยความหมายก็คือ การกระทำที่ประกอบด้วยกิเลส, พฤติกรรมทางกาย วาจา ใจ มีกิเลสควบคุมผลักดันให้กระทำ แต่ถ้าการกระทำประกอบด้วยสติปัญญา เรียกว่า กิริยา ทำหน้าที่ด้วยจิตว่าง ชื่อว่า อยู่เหนือกรรม.

      ##ประโยคที่ ๖ ""แล้วผลที่เกิดขึ้นทั้งหมดอาจเรียกได้ว่า ตรีรัตนะ หรือเพชรพลอยสามชนิดในเนื้อหาอันเดียวกัน""

      ท่านฮวงโปได้ชี้ให้เห็นว่า ความว่าง (สุญญตา) หรือจิตหนึ่ง นั่นแหละคือ พระรัตนตรัย, ความว่าง คือ พระพุทธ, ความว่าง คือ พระธรรม, ความว่าง คือ พระสงฆ์ ท่านใช้คำว่า เพชรพลอยสามชนิดในเนื้อหาอันเดียวกัน ก็คือ "ว่าง". (๒๖ มี. ค.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

31907

Character Limit 400