#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##มิจฉาทิฏฐิในสิ่งคู่#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๗- ๑๒๘; จะนำมาเขียนสัก ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ชิตกันถามว่า ท่านกล่าวว่า เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ถ้าเช่นนั้นท่านจะอ้างว่า ต่างกับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งสอนอย่างเดียวกันนี้ได้อย่างไร?""

      จากการสนทนากันระหว่างชิตกันกับท่านเว่ยหล่างเกี่ยวกับเรื่องความมีอยู่กับความไม่มีอยู่ ซึ่งมีสำนักอื่นที่สอนอยู่เหมือนกัน แต่วิธีการอธิบายความหมายแตกต่างกัน จึงเป็นเหตุให้ชิตกันทักท้วงขึ้นมาว่า ท่านเว่ยหล่างมีคำสอนต่างจากพวกมิจฉาทิฏฐิได้อย่างไร เพราะว่าโดยหลักก็เหมือนกัน.

      ##ประโยคที่ ๒ ""พระสังฆนายกตอบว่า ในคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ, คำว่า "ไม่มีอยู่" หมายถึงการสิ้นสุดของคำว่า "มีอยู่"; ส่วนคำว่า "มีอยู่" ก็ใช้เปรียบเทียบในทางตรงกันข้ามกับคำว่า "ไม่มีอยู่""

      ท่านกล่าวว่า "ไม่มีอยู่" ในคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ ก็คือ การสิ้นสุดลงของคำว่า "มีอยู่" เช่นยกตัวอย่าง เกิดความโกรธ พอความโกรธนั้นดับสิ้นลง นี้เรียกว่า ความไม่มีอยู่ของความโกรธ, ส่วนคำว่า "มีอยู่" ก็คือ ในขณะที่ความโกรธปรากฏอยู่; ท่านก็ได้อธิบายต่อไปว่า...

      ##ประโยคที่ ๓ ""สิ่งที่เขาหมายถึง ความไม่มีอยู่ ไม่ใช่หมายถึงการทำลายล้างโดยแท้จริง และสิ่งที่เขาเรียกว่า มีอยู่ ก็ไม่ได้หมายถึง ความมีอยู่อย่างแท้จริง""

      สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้หรือความว่าง (สุญญตา) เป็นสภาวะที่ปราศจาก "ความมีอยู่" ที่เป็นคู่กับ "ความไม่มีอยู่" ดังนั้นจึงเป็นการทำลายล้างโดยแท้จริง, จิตเดิมแท้เป็นธรรมชาติที่มีอยู่จริง ซึ่งเป็นสิ่งที่ว่างจาก "ความมีอยู่" ที่เป็นคู่กับ "ความไม่มีอยู่"; สัจธรรมสูงสุด กล่าวคือ จิตเดิมแท้ อยู่เหนือของคู่ทุกชนิด.

      ##ประโยคที่ ๔ ""สิ่งที่ฉันหมายถึงเหนือความมีอยู่และความไม่มีอยู่ ก็คือ โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีอยู่, แต่ในขณะปัจจุบันก็ไม่ได้ถูกทำลายล้างไป""

      สภาวะแห่งจิตเดิมแท้ หรือจะใช้คำว่า พระนิพพานก็ได้ เป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือทั้งความมีอยู่และความไม่มีอยู่; ทำไมท่านจึงย้ำว่า "โดยเนื้อแท้แล้ว ย่อมไม่มีอยู่" เพราะว่า คนส่วนมากมักจะยึดถือในคำพูดหรือยึดติดในตัวอักษร ดังนั้นท่านจึงชี้ให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องความมีอยู่และความไม่มีอยู่ที่เป็นคู่กัน เรียกว่า มิจฉาทิฏฐิ.

      ##ประโยคที่ ๕ ""นี่แหละเป็นความต่างกัน ระหว่างคำสอนของฉัน กับคำสอนของพวกมิจฉาทิฏฐิ""

      ความเชื่อเรื่องความมีอยู่ที่เป็นคู่กับความไม่มีอยู่ เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทสัสสตทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า เที่ยง; ส่วนความเชื่อเรื่องความไม่มีอยู่ที่เป็นคู่กับความมีอยู่ เป็นมิจฉาทิฏฐิประเภทอุจเฉททิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า ขาดสูญ; แต่ความเชื่อว่า ทั้งความมีอยู่และความไม่มีอยู่ เป็นเพียงมายาของความคิดปรุงแต่ง, เห็นแจ้งต่อจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากของคู่ทุกชนิด นี้เรียกว่า เป็นสัมมาทิฏฐิ. (๒๘ มี. ค.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

34214

Character Limit 400