#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##จิตว่าง คือบริสุทธิ์จริง.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๘; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ถ้าท่านปรารถนาจะทราบถึงประเด็นสำคัญในคำสอนของฉัน ท่านควรสลัดตัวของท่านให้ปลอดจากความคิดทั้งปวง ไม่ว่าดีหรือเลว""
ข้อความในประโยคนี้ ยังอยู่ในตอนที่ท่านเว่ยหล่างสนทนาธรรมกับชิตกัน ท่านได้กล่าวกับชิตกันว่า "ท่านควรสลัดตัวของท่านให้ปลอดจากความคิดทั้งปวง ไม่ว่าดีหรือเลว"; คนส่วนมากมักจะยึดติดอยู่กับความคิดที่เป็นคู่ ๆ เช่น สุข- ทุกข์, บุญ- บาป เป็นต้น แต่ในประโยคนี้ท่านพูดถึง "ดีกับเลว" คำว่า สลัด ก็คือ การไม่ยึดถือ, ที่จิตใจวุ่น ก็เพราะยึดถือ, จิตใจว่าง ก็เพราะไม่ยึดถือ; กล่าวสั้น ๆ ว่า จิตวุ่นเพราะยึด จิตว่างเพราะไม่ยึด; จิตว่าง ก็คือ ว่างจากความคิดที่เป็นคู่ ๆ ดังที่ได้กล่าวแล้ว.
##ประโยคที่ ๒ ""เมื่อนั้นจิตของท่านจะอยู่ในภาวะอันบริสุทธิ์ สงบ และสันติตลอดเวลา ทั้งคุณประโยชน์ที่จะได้รับจากการนี้ ก็มีมากมายหลายเท่าดุจเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคา"
จิตว่าง นั่นแหละคือ ภาวะที่บริสุทธิ์ สงบ และสันติ เพราะว่า จิตว่าง เป็นอสังขตธรรม หมายถึง ธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง, ถ้ายังปรุงแต่ง (สังขตะ) แสดงว่า ไม่บริสุทธิ์จริง ไม่สงบจริง ท่านเปรียบเทียบว่า คุณประโยชน์ของจิตว่างมีมากมายมหาศาลดุจเมล็ดทรายในแม่น้ำคงคาเลยทีเดียว; สิ่งที่เรียกว่า จิตว่าง เป็นคลังแห่งคุณธรรมทั้งปวง, คุณธรรมต่าง ๆ ที่แสดงออกมา ล้วนแต่พรั่งพรูออกมาจากจิตว่างทั้งสิ้น.
##ประโยคที่ ๓ ""คำสอนของพระสังฆนายก ทำให้ชิตกันบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ในทันใด เขากราบนมัสการและอำลาพระสังฆนายกกลับเมืองหลวง เมื่อถึงพระราชวังแล้ว ก็กราบทูลรายงานต่อพระมหาจักรพรรดิ ตามที่พระสังฆนายกได้กล่าว""
ชิตกัน ผู้เป็นขันที ซึ่งได้นำพระบรมราชโองการของพระมหาจักรพรรดินีพระพันปีหลวงเช็คทิน และพระมหาจักรพรรดิจุงจุง เพื่อนิมนต์ท่านเว่ยหล่าง ผู้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หก แต่ก็ได้รับการปฏิเสธ ชิตกันจึงอาราธนาให้ช่วยแสดงธรรมให้ฟัง เพื่อจะได้นำไปรายงานกราบทูลต่อพระมหาจักรพรรดิ ท่านเว่ยหล่างก็ได้แสดงธรรมให้ฟัง จนชิตกันเข้าใจแจ่มแจ้งต่อจิตเดิมแท้อย่างสมบูรณ์. (๑ เม. ย.๖๓)