#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#แสดงธรรมด้วยการหุบปาก.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๖๑, หน้า ๙๑; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ท่านอาจารย์เอง ก็เป็นพระสงฆ์องค์หนึ่งอยู่ในสังฆะในบัดนี้ และเป็นที่เห็นชัดกันอยู่แล้วว่า ท่านอาจารย์กำลังง่วนอยู่กับการประกาศธรรมะ แล้วท่านอาจารย์ประกาศออกมาว่า ไม่มีทั้งสังฆะ ไม่มีทั้งธรรมะได้อย่างไรกัน?""
ข้อความนี้เนื่องมาจากตอนที่แล้ว ซึ่งท่านฮวงโปได้กล่าวว่า "เมื่อพุทธะไม่ถูกแสวงหา ก็ไม่มีพุทธะที่จะต้องพบ!, เมื่อธรรมะไม่ถูกแสวงหา ก็ไม่มีธรรมะที่จะต้องพบ!, เมื่อสังฆะไม่ถูกแสวงหา ก็เป็นอันว่า ไม่มีสังฆะเลย!"
จากข้อความดังกล่าวนี้ แสดงให้เห็นว่า สัจธรรมที่แท้จริงและสูงสุด ก็คือ ความว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่มีพุทธะ ไม่มีธรรมะ และไม่มีสังฆะ เพราะพุทธะ ธรรมะ สังฆะดังกล่าวนั้น เป็นเพียงความคิด, พุทธะที่พบได้ด้วยการแสวงหา แสดงว่า เป็นพุทธะคิด, ธรรมะที่พบได้ด้วยการแสวงหา ก็เป็นธรรมะคิด, สังฆะที่พบได้ด้วยการแสวงหา ก็คือ สังฆะคิดเช่นกัน; ฉะนั้น ข้อความในประโยคแรกนี้ ลูกศิษย์จึงถามท่านฮวงโปว่า (อ่านคำถามอีกครั้ง), ทีนี้มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน...
##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..ถ้าพวกเธอสำคัญไปว่า มีธรรมะที่ต้องประกาศ เธอก็จะขอร้องอาตมาให้แสดงมัน แต่ถ้าเธอเรียกร้องหา "อาตมา" ชนิดที่เล็งถึงความมีอยู่อย่างพิเศษอีกชนิดหนึ่งแล้ว! ธรรมะนั้นหาใช่ธรรมะที่เธอกำลังขอร้องไม่, มันคือ จิตหนึ่งโน้น!""
คำว่า "ธรรมะที่ต้องประกาศ" หมายถึง ธรรมะที่เป็นปริยัติ ธรรมะที่เป็นความจำความคิด ธรรมะเหล่านี้ เป็นสิ่งที่แสดงออกมาด้วยคำพูดได้ ยกตัวอย่างเช่น พละห้า ได้แก่ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา เป็นต้น, ดังนั้น ท่านจึงกล่าวกับลูกศิษย์ว่า "ถ้าพวกเธอสำคัญไปว่า มีธรรมะที่ต้องประกาศ เธอก็จะขอร้องอาตมาให้แสดงมัน";
ข้อความถัดมาท่านได้กล่าวถึงธรรมะที่เรียกว่า จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง เป็นธรรมชาติที่มีอยู่อย่างพิเศษ อยู่เหนือคำพูด จะเข้าถึงได้หรือเห็นประจักษ์แจ้งได้ ต้องไม่ใช้วิธีด้วยการแสวงหา เพราะการแสวงหา ก็คือ การใช้เหตุผลของความคิด แต่สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่ง จะประจักษ์แจ้งชัดเจนออกมาได้ ต้องสลายเหตุผลของความคิดให้หมด. (๕ เม. ย.๖๓)