#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##อัตตา อนัตตา#!!!

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๙, หน้า ๑๒๘- ๑๒๙; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ครั้นถึงวันขึ้นสามค่ำ เดือนเก้า ปีเดียวกันนั้น พระมหาจักรพรรดิมีพระบรมราชโองการประกาศชมเชยพระสังฆนายกตามความดังนี้: ด้วยเหตุชราภาพและสุขภาพไม่สมบูรณ์ พระสังฆนายกได้ปฏิเสธการนิมนต์มาเมืองหลวง ท่านขอสละชีวิตปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เพื่อคุณประโยชน์ของพวกเรา""

      ข้อความดังกล่าว เป็นพระบรมราชโองการประกาศชมเชยพระสังฆปริณายกองค์ที่หก (ท่านเว่ยหล่าง) จากพระมหาจักรพรรดิ; ท่านเว่ยหล่างอ่านหนังสือไม่ออก เขียนหนังสือไม่เป็น แต่ตำแหน่งของท่านอยู่ในระดับสูงสุดของนิกายเซน ก็คือ พระสังฆปริณายกองค์ที่หก ธรรมะคำสอนของท่านลุ่มลึกคัมภีรภาพ ท่านมักจะเน้นคำว่า จิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง; มาดูข้อความที่เป็นพระบรมราชโองการชมเชยกันต่อ..

      ##ประโยคที่ ๒ ""ท่านเป็นเนื้อนาบุญแห่งชาติโดยแท้จริง ท่านได้ปฏิบัติตามอย่างท่านวิมลเกียรติ ซึ่งพักฟื้นอยู่ในเมืองไวสาลี ทำการเผยแพร่คำสอนของมหายานให้ไพศาล ด้วยการถ่ายทอดหลักธรรมของสำนักธยานะ และด้วยการอธิบายหลักธรรมแห่งการไม่เป็นของคู่""

      ฝ่ายนิกายเซนให้ความสำคัญกับวิมลเกียรตินิทเทศสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่ชี้ให้เห็นโทษของคติทวินิยม เพื่อความเห็นแจ้งสัจธรรม จะยกข้อความจากวิมลเกียรตินิทเทศสูตรมาสักบทหนึ่งว่า "อัตตา อนัตตา ชื่อว่า เป็นธรรมคู่ อันที่จริงอัตตาย่อมหาไม่ได้เลย แล้วอนัตตาจักมีได้อย่างไร ผู้ใดรู้แจ้งในธรรมตามเป็นจริง ดั่งนี้ ย่อมไม่เกิดความยึดถือในอัตตา อนัตตา จึงชื่อว่า เข้าสู่อไทวตธรรมทวาร" ในบทนี้ชี้ไปที่อัตตากับอนัตตาว่าเป็นของคู่, สัจธรรม คือไม่ยึดติดทั้งอัตตาและอนัตตา; ทีนี้มาดูพระบรมราชโองการกันต่อ..

      ##ประโยคที่ ๓ ""จากการถ่ายทอดธรรมของชิตกัน ผู้ซึ่งได้รับส่วนแบ่งในความรู้ทางพุทธะจากพระสังฆนายก ข้าพเจ้าทั้งสองจึงได้มีโอกาสเข้าใจถึงคำสอนชั้นสูงของพระพุทธศาสนา นี่จะต้องเนื่องมาจากกุศลและรากเง่าแห่งความดีที่ข้าพเจ้าได้สร้างสมมาแต่ชาติปางก่อน มิฉะนั้นแล้ว ข้าพเจ้าก็คงไม่ได้เกิดมาทันพระคุณท่าน""

      ชิตกันเป็นผู้นำพระบรมราชโองการครั้งแรก เพื่อมาอาราธนานิมนต์พระสังฆปริณายก (ท่านเว่ยหล่าง) ให้เข้าไปในเมืองหลวง ก็ได้รับการปฏิเสธ แต่ชิตกันได้รับคำสอนอันลึกซึ้ง และเกิดความเห็นแจ้งรู้แจ้งต่อสัจธรรมความจริงแท้ กล่าวคือ จิตดั้งเดิม หรือที่เรียกว่า ความว่าง (สุญญตา) จึงได้นำความเข้าใจและประสบการณ์ไปกราบบังคมทูลต่อพระมหาจักรพรรดิ จนเกิดความเข้าพระทัยอย่างแจ่มแจ้งไปด้วย. (๗ เม. ย.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

38021

Character Limit 400