#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ธรรมะแห่งจิต#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๖๒, หน้า ๙๑; ข้อความมีดังนี้ :-
##"เพราะเหตุนั้นเอง ท่านโพธิธรรม จึงกล่าวไว้ว่า แม้เราได้ถ่ายทอดให้แล้ว ซึ่งธรรมะแห่งจิต ธรรมะก็จะเป็นธรรมะไปได้อย่างไรกัน? เพราะว่า ไม่ใช่ทั้งธรรมะ ไม่ใช่ทั้งจิต ที่สามารถมีอยู่อย่างมีความเป็นตัวเป็นตน เข้าใจข้อนี้เท่านั้น เธอจึงจะเข้าใจธรรมะซึ่งถ่ายทอดด้วยจิตถึงจิต"
##ข้อความดังกล่าว ท่านฮวงโปได้อ้างถึงโศลกธรรมของพระโพธิธรรม ซึ่งเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่หนึ่งของพุทธศาสนานิกายเซน ถ้าเริ่มนับเฉพาะในประเทศจีน; ความหมายเป็นอย่างไร จะอธิบายไปตามลำดับ.
##ประโยคแรกที่ว่า "แม้เราได้ถ่ายทอดให้แล้ว ซึ่งธรรมะแห่งจิต" คำว่า ธรรมะแห่งจิต หมายถึง ความว่าง (สุญญตา) หรือจะเรียกว่า จิตหนึ่งก็ได้ จิตเดิมแท้ก็ได้ ซึ่งเป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง ไม่มีลบ (Negative) ไม่มีบวก (Positive) และไม่มีกลางที่อยู่ระหว่างลบกับบวก นั่นก็คือ จิตว่างหรือความว่าง ดังที่ได้กล่าวแล้ว.
##ประโยคที่สอง "ธรรมะก็จะเป็นธรรมะไปได้อย่างไรกัน?" จากข้อความในประโยคนี้แสดงให้เห็นว่า ธรรมะมีอยู่ ๒ ความหมาย คือ: ๑) ธรรมะที่เป็นความรู้จำ รู้คิด ซึ่งอยู่ในฝ่ายปรุงแต่ง (สังขตะ) และ ๒) ธรรมะที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตะ) ก็คือ จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ ดังนั้นที่ท่านกล่าวว่า ธรรมะก็จะเป็นธรรมะไปได้อย่างไรกัน? หมายความว่า ธรรมะที่เป็นจิตหนึ่ง จะเป็นธรรมะที่เป็นความจำความคิดได้อย่างไรกัน.
##ประโยคที่สาม "เพราะว่า ไม่ใช่ทั้งธรรมะ ไม่ใช่ทั้งจิต ที่สามารถมีอยู่อย่างมีความเป็นตัวเป็นตน" สิ่งที่เรียกว่า จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ เป็นสภาวะที่ไร้ตัวตน (อนัตตา) จิตหนึ่งหรือจิตเดิมแท้ จึงมิใช่ธรรมะที่เป็นความจำความคิดหรือปริยัติ และมิใช่จิตที่เป็นนามธรรม เช่น ความรู้สึกนึกคิด เป็นต้น.
##ประโคสุดท้าย "เข้าใจข้อนี้เท่านั้น เธอจึงจะเข้าใจธรรมะซึ่งถ่ายทอดด้วยจิตถึงจิต" สภาวะแห่งความว่าง เป็นธรรมชาติที่ล้ำลึก อยู่เหนือคำพูด อยู่เหนือการอุปมา มีคำที่เป็นปริศนาธรรมว่า "เมฆกับพระจันทร์ คือสิ่งเดียวกัน" เมฆ หมายถึง ความไม่พอใจและความพอใจ, พระจันทร์ หมายถึง จิตที่ผ่องใสเป็นกลาง, ที่ว่า เมฆกับพระจันทร์ คือสิ่งเดียวกัน หมายความว่า ไม่พอใจก็ปรุงแต่ง พอใจก็ปรุงแต่ง แม้จิตที่ผ่องใสเป็นกลางก็ปรุงแต่งเหมือนกัน แต่ภาวะของจิตว่าง คือ ว่างจากไม่พอใจ ว่างจากพอใจ และว่างจากจิตที่ผ่องใสเป็นกลางด้วย. (๑๑ เม. ย.๖๓)