#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
#โพธิมณฑล คือจิตหนึ่ง#
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๖๓, หน้า ๙๑; ข้อความมีดังนี้ :-
##""ความที่รู้อยู่ว่า ในสัจธรรมนั้น ไม่มีอะไรเลยแม้สักอย่างเดียวที่ดำรงอยู่ ซึ่งอาจยึดถือเอาได้ เข้าถึงได้ บรรลุได้ ตรัสรู้ได้ หรือเสวยผลได้! นั่นแหละคือ การนั่งอยู่ในโพธิมณฑล""
คำว่า สัจธรรม หมายถึง จิตหนึ่ง หรือที่เรียกว่า ความว่าง (สุญญตา) ซึ่งเป็นสภาวะที่อยู่เหนือสิ่งคู่ (คติทวินิยม) ทุกชนิด เป็นธรรมชาติแห่งความว่างชนิดที่ไร้ขอบเขตจำกัด จะเรียกว่า เป็นอนันตะก็ได้ หมายถึง ไม่มีที่สิ้นสุด เป็นภาวะแห่งความว่างอันหาที่สุดมิได้ นี้คือ ลักษณะของสัจธรรม ซึ่งเป็นอสังขตะ เป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง
ภาวะอันนี้แหละที่ท่านกล่าวว่า "ไม่มีอะไรเลยแม้สักอย่างเดียวที่ดำรงอยู่ ซึ่งอาจยึดถือเอาได้" เพราะว่า สิ่งที่มีการดำรงอยู่ เป็นลักษณะของสังขตะ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น ความโกรธดำรงอยู่ สุดท้ายความโกรธก็ดับไป หรือดีใจเกิดขึ้น ดีใจดำรงอยู่ ดีใจก็ดับไป เป็นต้น แต่สัจธรรม กล่าวคือ จิตหนึ่ง เป็นอสังขตะ ดังนั้น จึงเป็นสภาวะที่ไม่มีอะไรแม้สักอย่างเดียวที่ดำรงอยู่ให้ยึดถือ;
การยึดถือ ก็คือ การติดผูกอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ มีผู้ยึดถือ มีสิ่งที่ถูกยึดถือ ท่านได้กล่าวในลักษณะว่า สัจธรรมนั้น ไม่มีการเข้าถึง ไม่มีการบรรลุ ไม่มีการตรัสรู้ และไม่มีการเสวยผล เพราะว่า ถ้ามีการเข้าถึง ก็ต้องมีผู้เข้าถึง มีสิ่งที่ถูกเข้าถึง; ถ้ามีการบรรลุ ก็ต้องมีผู้บรรลุ มีสิ่งที่ถูกบรรลุ; ถ้ามีการตรัสรู้ ก็ต้องมีผู้ตรัสรู้ มีสิ่งที่ถูกตรัสรู้; ถ้ามีการเสวยผล ก็ต้องมีผู้เสวยผล และมีสิ่งที่ถูกเสวยผล;
ทั้งหมดนี้ ล้วนแต่เป็นมายาของความคิดปรุงแต่งทั้งสิ้น สิ่งที่เรียกว่า สัจธรรม ซึ่งเป็นอสังขตธรรม ว่างจากสิ่งเหล่านี้ด้วยประการทั้งปวง ดังนั้น ท่านฮวงโปจึงกล่าวว่า "ความที่รู้อยู่ว่า ในสัจธรรมนั้น ไม่มีอะไรเลยแม้สักอย่างเดียวที่ดำรงอยู่ ซึ่งอาจให้ยึดถือเอาได้ เข้าถึงได้ บรรลุได้ ตรัสรู้ได้ หรือเสวยผลได้" สุดท้ายท่านก็กล่าวว่า "นั่นแหละคือ การนั่งอยู่ในโพธิมณฑล" หมายถึง จิตหนึ่งนั่นเอง. (๒๐ เม. ย.๖๓)