#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##พระสูตรเป็นดั่งสะพาน.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, คำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๔; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ผู้ที่เชื่ออย่างยึดมั่นในลัทธิขาดสูญ ย่อมดูหมิ่นพระสูตรทั้งหลาย ในแง่ที่ว่า ภาษานั้นไม่จำเป็น""
พุทธศาสนานิกายเซน มักจะใช้พระสูตรที่ชื่อว่า ปรัชญาปารมิตาสูตรกัน เช่น วัชรปรัชญาปารมิตาสูตรบ้าง ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตรบ้าง เป็นต้น; ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวถึงลัทธิที่มีความเชื่อเรื่อง ขาดสูญ ซึ่งเป็นพวกสุดโต่งอีกฝ่ายหนึ่ง เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ เขามีความเห็นว่า ไม่มีอะไรเลย เป็นมิจฉาทิฏฐิชนิดหนึ่ง ท่านชี้ให้เห็นว่า ลัทธินี้ชอบดูหมิ่นพระสูตร การดูหมิ่นพระสูตร ก็เป็นความยึดมั่นถือมั่นอย่างหนึ่งเหมือนกัน; ท่านได้กล่าวต่อไปว่า...
##ประโยคที่ ๒ ""ถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว พวกเราก็ผิดในการที่พูด เพราะคำพูดย่อมก่อให้เกิดเนื้อหาทางภาษา และเขาก็อาจแย้งได้อีกว่า สำหรับวิธีตรงนั้นภาษาเป็นอันยกเลิกได้ แต่เขาจะพอใจกับคำว่า ยกเลิก ซึ่งก็เป็นภาษาเช่นกัน ฉะนั้นหรือ?""
พวกอุจเฉททิฏฐิปฏิเสธคำพูด ปฏิเสธภาษา การปฏิเสธก็เป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการยอมรับ ซึ่งเป็นลักษณะคติทวินิยม แต่ท่านเว่ยหล่างระบุไปที่คำว่า "ยกเลิก" พวกอุจเฉททิฏฐิเข้าไปยึดติดอยู่กับคำว่า "ยกเลิก" ดังนั้น ความคิดว่า ยกเลิกก็กลายเป็นอุปสรรคปิดกั้นสัจธรรม.
##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อได้ยินผู้อื่นกล่าวถึงพระสูตร คนเช่นนี้จะตำหนิผู้พูดในทำนองว่า ติดอยู่กับตำรา มันเป็นความชั่วอย่างพอตัวทีเดียว ที่ยึดถือความคิดเห็นผิด ๆ เช่นนี้ไว้กับตน""
คนเชื่อตำรา เชื่อพระสูตรมีอยู่ ๒ พวก: พวกแรก เป็นคนเชื่อง่าย ไม่ใคร่ครวญ ไม่พิจารณา ตำราว่าไว้อย่างไร ก็เชื่อตามหมด นี้จัดว่าไม่ถูกต้อง จะกลายเป็นเมาตำราไป. พวกที่สอง ครั้นศึกษาแล้วก็ไม่เชื่อทันที ต้องผ่านการวิเคราะห์ใคร่ครวญก่อน ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าเพิ่งเชื่อแม้อยู่ในปิฎกหรือตำรา; ท่านกล่าวต่อไปอีกว่า..
##ประโยคที่ ๔ ""พวกท่านควรรู้ว่า การกล่าวร้ายต่อพระสูตร เป็นความผิดอย่างมหันต์ เพราะผลลัพธ์ที่จะได้นั้น หนักมากทีเดียว""
ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า พวกที่เป็นอุจเฉททิฏฐิ ซึ่งเชื่อเรื่องความขาดสูญ การกล่าวร้ายต่อพระสูตร เป็นความผิดอย่างร้ายแรง เช่น วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร ปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร เป็นต้น เพราะว่า พระสูตรเหล่านี้ จะนำผู้ศึกษาให้เข้าถึงการตรัสรู้ นำผู้สาธยายให้เข้าสู่ความเห็นแจ้งต่อสัจธรรม ถ้ากล่าวร้ายกล่าวปฏิเสธ ก็เท่ากับปิดกั้นตนเองไม่ให้เห็นแจ้งต่อความจริง กล่าวคือ ความว่าง. (๖ พ. ย.๖๓)