#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##สุญญตา คือพุทธะ#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๖๘, หน้า ๙๕; ขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ถ้าจิตของเราเองก็เป็นพุทธะ ท่านโพธิธรรมเมื่อมาจากอินเดีย ท่านถ่ายทอดธรรมะของท่านไว้อย่างไร?""

      คนส่วนมากพอได้ยินคำว่า "ธรรมะ" ก็จะนึกไปถึงธรรมะที่เป็นคำสอน ธรรมะที่เป็นหมวดธรรมต่าง ๆ เช่น ไตรสิกขา คือ การศึกษา ๓ อย่าง ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา; อิทธิบาท ๔ คือ ทางแห่งความสำเร็จ ๔ อย่าง ได้แก่ ฉันทะ คือ ความพอใจ, วิริยะ คือ ความพากเพียร, จิตตะ คือ การเอาใจจดจ่อ, และวิมังสา คือ การใคร่ครวญพิจารณา เป็นต้น; หรือนึกไปถึงรูปแบบของการปฏิบัติที่กาย ที่วาจา ที่จิตใจ เป็นต้น แต่หลักของนิกายเซนไม่ใช่อย่างนั้น, มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกันว่าท่านตอบอย่างไร?...

      ##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..เมื่อท่านโพธิธรรมมาจากอินเดีย ท่านถ่ายทอดแต่ "จิตพุทธะ" เท่านั้น""

      จิตพุทธะ ก็คือ จิตว่าง (สุญญตา) ซึ่งมิใช่นามธรรม เป็นสภาวะที่ปราศจากความปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง มีโศลกของพระโพธิธรรมอยู่บทหนึ่ง เคยนำมาเขียนไว้บ้างแล้วว่า "ธรรมชาติแท้ของจิตนั้น ถ้าผู้ใดเข้าใจซึมซาบแล้ว คำพูดของมนุษย์ไม่สามารถหว่านล้อมหรือเปิดเผยมันได้ ความตรัสรู้ คือความไม่มีอะไรให้ใครต้องลุถึง และผู้ซึ่งได้ตรัสรู้ก็ไม่พูดว่า เขารู้อะไร" จิตพุทธะ ไม่ใช่ความจำ (สัญญา) ไม่ใช่ความคิด (สังขาร) ไม่ใช่การรู้แจ้งอารมณ์ (วิญญาณ) ไม่ใช่ความรู้สึกภายใน เช่น รู้สึกเย็นใจ เป็นต้น เพราะจิตเหล่านี้ เป็นนามธรรม.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ท่านเพียงแต่ชี้ความจริงในข้อที่ว่า จิตของพวกเราทุกคนเป็นอันเดียวกับพุทธะมาแล้วแต่แรกเริ่มเดิมทีทีเดียว และไม่มีทางที่จะแยกกันได้แต่อย่างใดเลย นั่นแหละคือ ข้อที่ว่า ทำไมเราจึงเรียกท่านว่า สังฆปริณายกของเรา""

      ท่านฮวงโปได้กล่าวถึงพระโพธิธรรมว่า ท่านเพียงแต่ชี้ความจริงให้ทุกคนได้เห็นว่า จิตกับพุทธะ คือ ภาวะอันเดียวกัน และเป็นธรรมชาติที่มีอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็ตรงกับที่พระบรมศาสดาตรัสว่า "จิตนี้ประภัสสร แต่มัวหมองแล้วเพราะกิเลสเป็นอาคันตุกะจรเข้ามา" กิเลสทุกระดับชั้น เกิดขึ้นภายหลัง ไม่ว่าจะเป็นกิเลสชั้นหยาบ ชั้นปานกลาง หรือชั้นละเอียดก็ตาม. (๗ พ. ย.๖๓)

No comments yet...

Leave your comment

23422

Character Limit 400