#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เทคนิคการถ่ายทอดธรรม.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, คำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๕; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""สมมุติมีคนถามท่านว่า ความมืด คือ อะไร ท่านก็ตอบเขาไปว่า ความสว่างเป็นเหตุ ความมืดเป็นปัจจัย เมื่อความสว่างหายไป ความมืดก็ตามมา""
ท่านเว่ยหล่างแนะนำวิธีการตอบคำถามกับลูกศิษย์ เพื่อให้ลูกศิษย์นำไปใช้ในการตอบคำถามจากผู้อื่น ดังข้อความในตอนที่แล้วว่า "เมื่อมีปัญหาถามมา จงตอบไปในทำนองปฏิเสธ ถ้าเป็นปัญหาปฏิเสธ จงตอบไปในทำนองบอกรับ..ฯลฯ" ท่านก็ได้ยกตัวอย่างไว้ในประโยคนี้ว่า..
"สมมุติมีคนถามท่านว่า ความมืด คือ อะไร ท่านก็ตอบเขาไปว่า ความสว่างเป็นเหตุ ความมืดเป็นปัจจัย เมื่อความสว่างหายไป ความมืดก็ตามมา" ความประสงค์ก็เพื่อให้ผู้ถามปัญหามองเห็นโทษของสิ่งที่เป็นคู่นั่นเอง เช่น บุญ- บาป, สุข- ทุกข์, ดี- ชั่ว, สว่าง- มืด เป็นต้น เพราะว่า คนส่วนมากมักจะติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่.
##ประโยคที่ ๒ ""สองสิ่งนี้อยู่ในลักษณะเปรียบเทียบต่อกันและกัน จากการเปรียบเทียบกันหรืออ้างอิงกัน ระหว่างสิ่งตรงข้ามทั้งคู่ ก็จะเกิด "ทางสายกลาง" ขึ้น""
ท่านชี้ให้เห็นว่า เมื่อพูดให้ผู้ถามปัญหามองเห็นโทษของสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ตรงกันข้ามได้ เขาก็จะมองเห็นทางสายกลางที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทาขึ้นมาเอง เพราะสิ่งคู่เป็นลักษณะของความสุดโต่งไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง, สุดโต่งไปฝ่ายย่อหย่อน ก็เป็นอุปาทาน สุดโต่งไปฝ่ายตึง ก็เป็นอุปาทาน เช่น ติดอยู่กับความมืด ก็เป็นฝ่ายย่อหย่อน ติดอยู่กับความสว่าง ก็อยู่ในฝ่ายตึง
แม้ว่า เป็นความย่อหย่อน เป็นความตึงที่ไม่รุนแรง แต่ก็มีอานุภาพพอที่จะปิดกั้นสัจธรรม ปิดบังหนทางสายกลางมิให้ปรากฏออกมา ดังนั้น ท่านจึงชี้ให้ใช้วิธีตอบคำถามในลักษณะปฏิเสธ เป็นต้น.
##ประโยคที่ ๓ ""จงตอบปัญหาอื่น ๆ ทั้งปวงในทำนองเดียวกันนี้ ในการถ่ายทอดธรรมให้สานุศิษย์ของท่าน ท่านควรมอบคำสอนนี้ต่อ ๆ กันไป ตามอนุชนแต่ละชั้น เพื่อเป็นเครื่องประกันความถาวรแห่งเป้าหมายและจุดประสงค์ของสำนักเรา""
ท่านย้ำและยืนยันให้ใช้วิธีการนี้ในการเผยแพร่ธรรม เรียกว่า เป็นเทคนิคในการถ่ายทอดแบบจิตถึงจิต บรรลุธรรมเห็นแจ้งจิตเดิมแท้แบบลัดสั้นที่สุด; สิ่งที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ เป็นธรรมชาติแห่งความอิสรภาพเสรีภาพ ปราศจากการยึดติดในสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด
แสดงให้เห็นว่า การยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ นั่นคือ อุปสรรค ดังนั้นท่านจึงบอกวิธีสอนด้วยการชี้ให้ผู้ฟังเห็นโทษของสิ่งที่เป็นคู่ทุกชนิด เมื่อพ้นจากสิ่งคู่ ก็เข้าสู่มัชฌิมา. (๒๙ พ. ย.๖๓)