#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ความลวงกับความจริง.

      ##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, คำสอนครั้งสุดท้าย, หน้า ๑๓๖; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""นั่งลงเถิดทุก ๆ ท่าน ฉันจะกล่าวโศลกด้วยความจริงแท้และความลวง กับโศลกว่าด้วยความเคลื่อนไหวและความสงบนิ่งให้ท่านฟัง จงนำไปศึกษา แล้วความเห็นของท่านก็จะอยู่ในแนวเดียวกับความเห็นของฉัน จงนำไปปฏิบัติ แล้วท่านจะทราบถึงเป้าหมายและจุดประสงค์แห่งสำนักของเรา""

      ท่านเว่ยหล่างได้กล่าวเชิญชวนให้บรรดาศิษย์นั่งลงและตั้งใจฟัง ท่านมีความประสงค์จะแสดงสิ่งที่เป็นคู่ ๆ นั่นเองให้ฟัง ซึ่งเป็นมายาหลอกลวง เรียกว่า คติทวินิยม และต้องการจะชี้ให้เห็นถึงความจริงแท้แห่งสัจธรรม อันเป็นธรรมชาติที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งในลักษณะของความเป็นคู่ เป็นสภาวะที่ไม่ตาย เรียกว่า อมตธรรม คือ สิ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ที่ประชุมต่างทำความเคารพและขอฟังโศลกนั้น (พระสังฆปริณายกก็ได้กล่าวขึ้นว่า) ในสรรพสิ่งทั้งหลาย ย่อมไม่มีอะไรที่จริงแท้ ดังนั้นเราควรเปลื้องตนออกเสียจากความคิดเห็นถึงความจริงแท้แห่งวัตถุเหล่านั้น ใครที่เชื่อในความจริงแท้ของวัตถุ ย่อมถูกพันธนาการอยู่ด้วยความคิดเห็นเช่นนั้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสิ่งลวง""

      ท่านเว่ยหล่างได้ชี้ให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นวัตถุ มิใช่ความจริงแท้ แต่ปุถุชนคนทั่วไปเข้าไปหลงไหลมัวเมา จนกลายเป็นสิ่งบดบังสัจธรรมอันสูงสุด กล่าวคือ ความว่าง (สุญญตา) หรือที่เรียกว่า จิตเดิมแท้ ไม่ให้ประจักษ์แจ้งออกมา; จิตเดิมแท้ เป็นอสังขตธรรม คือ สภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง.

      ##ประโยคที่ ๓ ""ใครที่ตระหนักชัดถึงความจริงแท้ในตัวเขาเอง ย่อมรู้ว่า จิตที่แท้ ต้องค้นหาต่างที่กับปรากฏการณ์ที่ผิด""

      ความจริงแท้ กล่าวคือ สุญญตา เป็นธรรมชาติที่อยู่เหนือคำพูด เปิดเผยด้วยวาจาของมนุษย์ไม่ได้ ต้องหุบปากเงียบ พระพุทธเจ้าจึงใช้คำว่า ปัจจัตตัง คือ รู้ได้เฉพาะตน, สิ่งที่เป็นปัจจัตตังมีหนึ่งเดียวเท่านั้น ก็คือ ความว่างหรือจิตเดิมแท้ ก็เพราะว่า เป็นอสังขตธรรม นอกไปจากจิตเดิมแท้แล้ว เรียกว่า สังขตธรรม คือ สิ่งที่ปรุงแต่ง ขึ้นชื่อว่า สิ่งปรุงแต่งไม่จัดเป็นปัจจัตตัง เพราะว่า ถ่ายทอดกันได้ด้วยถ้อยคำ อุปมาให้เห็นได้ด้วยวาจา  ดังนั้นท่านจึงกล่าวในทำนองว่า ถ้าผู้ใดเห็นแจ้งชัดต่อจิตเดิมแท้แล้ว ย่อมรู้ด้วยตนเองว่า เป็นธรรมชาติที่ต้องค้นหาต่างไปจากปรากฏการณ์ที่ปรุงแต่งทั่วไป. (๗ ม. ค.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

21810

Character Limit 400