#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##คิดผิดกับคิดถูก#!!!

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๗๗, หน้า ๙๘; จะขอแบ่งออกเป็น ๕ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..แม้ในขณะนี้แท้ ๆ ความคิดผิด ๆ นานาชนิด ก็กำลังไหลพล่านอยู่ในใจของพวกเรา แล้วท่านอาจารย์กล่าวได้อย่างไรกันว่า พวกเราจะไม่มีมันเล่า?""

      คนส่วนมากมักจะเข้าใจกันว่า กิเลสมีอยู่ในจิตใจตลอดเวลา ความคิดปรุงแต่งมีลักษณะเป็นเจ้าเรือน ที่จริงเป็นเพียงความเข้าใจผิด (มิจฉาทิฏฐิ) โดยธรรมชาติจิตใจว่างอยู่ก่อน กิเลสมีลักษณะเป็นอาคันตุกะ คือ เป็นแขกที่จรเข้ามาเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในขณะแห่งผัสสะทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจที่ขาดสติปัญญา; มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..ความคิดผิดเป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตนจริง ทั้งหมดนั้น เป็นเพียงผลิตผลที่พวกเธอคิดมันขึ้นมาเอง""

      สภาวะของความคิดเป็นธรรมชาติกลาง ๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า สังกัปปะ ถ้าเป็นความคิดที่ประกอบด้วยมิจฉาทิฏฐิ เรียกว่า มิจฉาสังกัปปะ ก็คือ ความคิดผิด เป็นความคิดปรุงแต่ง ความคิดฟุ้งซ่าน การปรากฏของความคิดมีลักษณะเป็นอัตตาตัวตน ทำให้จิตใจมืด มองไม่เห็นจิตหนึ่ง แต่ถ้าเป็นความคิดที่ประกอบด้วยสัมมาทิฏฐิ เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ ก็คือ ความคิดที่ถูกต้อง เป็นความคิดที่บริสุทธิ์ และไม่ปรากฏเป็นอัตตา (อนัตตา).

      ##ประโยคที่ ๓ ""และถ้าพวกเธอรู้ว่า จิต คือ พุทธะ, และว่า จิตนั้นโดยพื้นฐานแล้วเป็นสิ่งที่ปราศจากความคิดผิด เมื่อใด ความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้น พวกเธอจะเห็นได้โดยประจักษ์ว่า ความคิดเหล่านั้นแหละ เป็นอะไร ๆ ทั้งหมดที่ทำให้ความคิดผิดเกิดขึ้น""

      คำว่า จิต คือ พุทธะ หมายถึง จิตดั้งเดิม ที่เรียกว่า จิตหนึ่งนั่นเอง เป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งด้วยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้าที่เป็นพระศาสดา พระองค์ดับขันธปรินิพพานไปแล้ว แต่พระพุทธเจ้าที่เป็นสัจธรรม ยังไม่ตาย เรียกว่า พุทธภาวะ ก็คือ จิตหนึ่ง.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ถ้าพวกเธอห้ามกันความคิดปรุงแต่งเสียได้ทุกคราว และกระทำกระแสแห่งความคิดให้หยุดไหลเสียได้ ก็ย่อมไม่มีความคิดผิดใด ๆ เหลืออยู่ที่พวกเธอได้เองโดยธรรมชาติ""

      ที่ได้เขียนไปแล้วว่า ความคิดปรุงแต่งมิได้มีอยู่ตลอดเวลา มีลักษณะเป็นอาคันตุกะ เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และดับไปเป็นที่สุด ฉะนั้นที่สำคัญ ก็คือ ระมัดระวังไม่ให้ความคิดปรุงแต่งเกิดขึ้นมา มีคำกล่าวว่า "จิตก่อนคิด คือ พุทธะ" จิตก่อนคิด หมายถึง จิตว่างนั่นเอง มีปัญญาเห็นแจ้งอยู่กับจิตว่าง ระวังไม่ให้ความคิดเกิดขึ้นมา.

      ##ประโยคที่ ๕ ""เพราะฉะนั้น จึงมีคำกล่าวไว้ว่า เมื่อความคิดต่าง ๆ เกิดขึ้น สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมดก็ต้องเกิดขึ้น เมื่อความคิดต่าง ๆ ดับหายไป สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด ก็ย่อมดับหายไป""

      ที่ว่า "เมื่อความคิดเกิด สิ่งต่าง ๆ ก็ต้องเกิด" หมายความว่า เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่งขึ้น สิ่งต่าง ๆ ก็มีค่ามีความหมายขึ้นมา การเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น ก็เกี่ยวข้องไปด้วยความรู้สึกสำคัญมั่นหมายว่า เป็นตัวเรา เป็นของเรา แต่ถ้าปราศจากความคิดปรุงแต่ง จิตใจว่างและบริบูรณ์อยู่ด้วยสติปัญญา, ความรู้สึกสำคัญมั่นหมายต่อสิ่งต่าง ๆ ก็ย่อมไม่มี; มีโดยสมมุติ แต่ไม่มีโดยปรมัตถ์. (๑๑ ม. ค.๖๔) 

No comments yet...

Leave your comment

58123

Character Limit 400