#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##พุทธะแท้ พุทธะเทียม#!!!
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๗๘, หน้า ๙๙; จะขอแบ่งออกเป็น ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยที่ ๑ ""ถาม..เมื่อความคิดผิด ๆ ทั้งหลายกำลังอยู่ในใจของพวกเรา ในขณะนั้นพุทธะไปอยู่เสียที่ไหน?""
ผู้ที่ยังไม่เห็นแจ้งพุทธะ เรียกว่า ปุถุชน, ส่วนผู้ที่เห็นแจ้งต่อพุทธะแล้ว เรียกว่า อริยบุคคล, ผู้เป็นปุถุชนมักจะเข้าใจว่า กิเลสหรือความทุกข์มีอยู่ในจิตใจตลอดเวลา มีลักษณะเหมือนกับเป็นเจ้าเรือน แต่โดยธรรมชาติจริง ๆ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นอาคันตุกะ คือ เป็นแขกที่จรเข้ามาเป็นครั้งคราว, จิตเดิมบริสุทธิ์อยู่ก่อน ก็คือ จิตพุทธะนั่นเอง ซึ่งเป็นอสังขตธรรม; ทีนี้มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.
##ประโยคที่ ๒ ""ในขณะนั้น พวกเธอกำลังตระหนักแน่ ต่อความคิดอันผิดเหล่านั้น ความตระหนักของพวกเธอนั่นเอง คือ พุทธะยังไงละ""
ท่านฮวงโปได้ชี้ให้เห็นว่า ความตระหนักรู้ต่อความคิดที่ผิด ๆ นั่นแหละคือ พุทธะ, ความรู้ที่มองเห็นโทษของความคิดปรุงแต่ง มองเห็นภัยต่อความยินดี ยินร้าย เรียกว่า พุทธะ ซึ่งแปลว่า ความรู้ ความตื่น ความเบิกบาน; จิตวุ่นเป็นกิเลส จิตว่างเป็นพุทธะ, จิตวุ่น เพราะยึดถือ จิตว่าง เพราะไม่ยึดถือ, มองเห็นโทษจิตวุ่น มองเห็นคุณจิตว่าง.
##ประโยคที่ ๓ ""บางทีพวกเธออาจเข้าใจได้กระมังว่า ถ้าพวกเธอเพียงแต่เปลื้องกระแสแห่งความคิด ซึ่งล้วนแต่เป็นมายาทุกกระแส ออกไปเสียให้หมดเท่านั้น มันก็ไม่มีพุทธะพุทเธาะอะไรที่ไหนกัน""
ความคิดปรุงแต่งเป็นลักษณะของการยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ เช่น บุญ- บาป, สุข- ทุกข์ เป็นต้น; ในประโยคนี้ท่านระบุไปที่ "พุทธะกับกิเลส" ที่ท่านกล่าวว่า ไม่มีพุทธะพุทเธอะอะไรที่ไหน หมายถึง ไม่มีพุทธะที่เป็นคู่กับกิเลสนั่นเอง, ภาวะที่ว่างจากพุทธะ ว่างจากกิเลส นั่นแหละคือ พุทธะแท้. (๒๐ ม. ค.๖๔)