#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##การโต้เถียง คืออุปสรรค.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, อยู่ในหมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๓๗; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""เรื่องการโต้เถียงไม่ใช่วิธีการของสำนักเรา เพราะเป็นการขัดแย้งกับหลักธรรม""
หลักธรรมในความหมายของท่านเว่ยหล่าง หมายถึง จิตเดิมแท้; ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า การโต้เถียงธรรมะกัน ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเห็นแจ้งจิตเดิมแท้ เพราะว่า ในขณะที่โต้เถียงเพื่อจะเอาชนะกันนั้น ทำให้จิตใจฟุ้งซ่าน เป็นการเพิ่มกำลังให้กับความคิดปรุงแต่ง ดังนั้น ต้องมองให้เห็นโทษภัยในการโต้เถียงกัน; การแพ้ภายนอก แต่เป็นการชนะกิเลสที่จะเกิดขึ้นครอบงำจิตใจ ชนะด้วยความนิ่ง ประเสริฐที่สุด.
##ประโยคที่ ๒ ""การยึดมั่นหรือขัดแย้งกับสิ่งอื่น โดยไม่คำนึงถึงหลักข้อนี้ ย่อมเป็นการผลักไสให้ภาวะที่แท้แห่งจิต (จิตเดิมแท้) ของตน ตกไปสู่ความขมขื่นแห่งโลกิยภูมิ""
โลกิยภูมิ หมายถึง ภาวะจิตที่อยู่ในโลกแห่งความคิดปรุงแต่ง ถ้าจะพูดกันโดยหลักมีอยู่ ๓ อย่าง คือ: ๑) กามาวจรภูมิ หมายถึง จิตปรุงแต่งไปในเรื่องของกาม เช่น ปรุงแต่งไปในกามคุณห้า. ๒) รูปาวจรภูมิ หมายถึง จิตปรุงแต่งไปในเรื่องของรูป เช่น รูปฌานสี่ เป็นต้น. และ ๓) อรูปาวจรภูมิ หมายถึง จิตปรุงแต่งไปในเรื่องของภาวะที่มิใช่รูป เช่น ปรุงแต่งอยู่ในอรูปฌานสี่, หรือจะพูดว่า ภูมิแห่งความโลภ ภูมิแห่งความโกรธ ภูมิแห่งความหลง อย่างนี้ก็ได้; ภูมิแห่งความคิดปรุงแต่งเหล่านี้ คือ สิ่งบดบังจิตเดิมแท้ทั้งสิ้น.
##ประโยคที่ ๓ ""เมื่อได้ฟังโศลกบทนี้ ที่ประชุมต่างกราบนมัสการพระสังฆนายกพร้อมกัน ทุกคนต่างสำรวมใจปฏิบัติตามโศลกอย่างจริงจัง และละเว้นการขัดแย้งกันในทางศาสนา""
ข้อความที่ว่า "การขัดแย้งกันในทางศาสนา" ไม่ใช่ถึงขนาดการทุบตีกัน หรือการฆ่าทำร้ายร่างกายกัน แต่เป็นเพียงมีความเห็นที่ต่างกัน มีความเข้าใจไม่ตรงกัน เถียงกันด้วยเหตุผลของความคิด; จิตเดิมแท้เป็นธรรมชาติที่ลุ่มลึก ละเอียดอ่อน เรียกว่า ปรมัตถสัจจะ ก็คือ ความจริงที่มีความหมายอันลึกซึ้ง หรือความจริงที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง จิตเดิมแท้มีประโยชน์อย่างยิ่ง ผู้เห็นแจ้งจิตเดิมแท้ ย่อมไม่มีความทุกข์เลย. (๙ ก. พ.๖๔)