#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##เห็นพุทธะคือเห็นนิพพาน.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๓๔; จะนำมาเขียนสัก ๓ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ทันใดนั้นท่านฟัตห่อยได้กล่าวกับพระสังฆนายกว่า "พระคุณท่านได้โปรดกรุณาให้คำสอนที่จำกัดความไว้อย่างแน่นอนแก่คนรุ่นหลัง ๆ เพื่อมหาชนผู้หลงผิด จะได้ตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ""
ที่เคยเขียนไปบ้างแล้วในครั้งก่อน ๆ ว่า "พุทธะ" กับ "นิพพาน" คือ สิ่งเดียวกัน ดังพุทธภาษิตที่ว่า "ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม" พุทธภาษิตนี้ แสดงให้เห็นว่า พุทธะกับธรรมะ คือ สภาวะอันเดียวกัน หรือจะใช้คำว่า "ความว่าง" ก็ได้; ความว่าง คือ พุทธะ, ความว่าง คือ นิพพาน.
##ประโยคที่ ๒ ""พระสังฆนายกตอบว่า "ไม่ใช่ว่า จะเป็นการเหลือวิสัยสำหรับคนเหล่านี้ ที่จะตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะ ถ้าหากว่าเขาจะทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสามัญสัตว์""
คำว่า ธรรมชาติของสามัญสัตว์ หมายถึง ความคิดปรุงแต่งในลักษณะที่เป็นคู่ ๆ เช่น คิดเรื่อง บุญ- บาป, สุข- ทุกข์, ดี- ชั่ว, รัก- ชัง เป็นต้น; ที่ท่านกล่าวว่า การทำตนให้เคยชินกับธรรมชาติของสามัญสัตว์ ก็คือ มองเห็นโทษภัยของความคิดปรุงแต่งในทุกระดับ และไม่ยึดติดอยู่กับความคิดที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด ก็จะเข้าถึงพุทธะได้; ท่านก็ได้กล่าวต่อไปว่า...
##ประโยคที่ ๓ ""แต่ว่า การค้นหาความเป็นพุทธะโดยปราศจากความรู้ดังกล่าว ย่อมเป็นการไร้ผล แม้เขาจะใช้เวลาเป็นกัลป์ ๆ เที่ยวค้นหาก็ตาม""
ท่านได้ยืนยันว่า การค้นหาพุทธะ ถ้าไม่คุ้นชินกับธรรมชาติของสามัญสัตว์ ก่อน ก็ยากที่จะเห็นแจ้งต่อพุทธะได้ ดังนั้น การมองเห็นโทษภัยของความคิดปรุงแต่งเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง โดยเฉพาะความคิดปรุงแต่งในฝ่ายบวก (Positive) ซึ่งคนส่วนมากมักจะเข้าไปหลงเพลิน (นันทิ) แต่ผู้มีปัญญามองเห็นว่า มีอาการเหมือนกันกับฝ่ายลบ (Negative) ก็คือ ปรุงแต่ง เมื่อมองเห็นอย่างนี้ ก็จะเข้าถึงพุทธะ. (๘ เม. ย.๖๔)