#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##มัชฌิมาปฏิปทา.
##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๒๙๙, หน้า ๑๐๘; จะขอแบ่งออกเป็น ๒ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..อะไรคือ ความหมายของคำว่า ความขยันอย่างกระตือรือร้น?""
พอได้ยินคำว่า "ความขยันอย่างกระตือรือร้น" นักปฏิบัติธรรมโดยทั่วไป มักจะเข้าใจกันว่า หมายถึง ต้องมีความเพียรกันอย่างอุกฤษฏ์ ต้องเดินจงกรมด้วยการใช้เวลานาน ๆ ต้องนั่งสมาธิต่อเนื่องกันหลาย ๆ ชั่วโมง เป็นต้น ฉะนั้นคำว่า ความขยันอย่างกระตือรือร้นตามความรู้สึกของคนที่ไม่รู้ธรรมะ จะเป็นลักษณะของความสุดโต่งไปฝ่ายตึงเสียมากกว่า ที่เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยคนั่นเอง ยกตัวอย่าง ปัญจวัคคีย์ ได้แก่ โกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสชิ ก่อนจะได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า เขามีความเข้าใจว่า ผู้ที่จะบรรลุอมตธรรมได้นั้น ต้องมีความเพียรกันอย่างอุกฤษฏ์จริง ๆ; ทีนี้มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.
##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..ความขยันอย่างกระตือรือร้นที่มีรูปแห่งการประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์ถึงที่สุดนั้น คือความที่ความรู้สึกแตกต่างกันเป็นคู่ เช่นว่า "กายของฉัน" "ใจของฉัน" เป็นต้น ได้หมดไปจากใจของพวกเธอโดยสิ้นเชิงนั่นเอง""
ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า ความขยันอย่างกระตือรือร้นที่ถูกต้องจริง ๆ นั้น หมายถึง การไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งที่เป็นคู่ ๆ ทุกชนิด และนั่นแหละที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา; ความสุดโต่งไปในฝ่ายย่อหย่อน เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค ความสุดโต่งไปในฝ่ายตึง เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค แต่ความพอดี ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ จิตใจที่อิสรภาพเสรีภาพ ไม่เกาะยึดอยู่กับสิ่งที่สุดโต่งทุกชนิด ท่านยกตัวอย่างถึงคำว่า "กายของฉัน" กับ "ใจของฉัน"; ผู้ที่ประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตว่าง นั่นแหละชื่อว่า เป็นผู้มีความขยันอย่างกระตือรือร้นที่แท้จริงและสูงสุด. (๑ ก. ค.๖๔)