#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

##ความเห็นแจ้ง รู้จริง.

      ##คำสอนท่านฮวงโป, ตอนที่ ๓๐๑, หน้า ๑๐๙; ขอแบ่งออกเป็น ๔ ประโยค ดังนี้ :-

      ##ประโยคที่ ๑ ""ถาม..ถ้ากระผมปฏิบัติทางนี้ และเว้นขาดจากกรรมวิธีต่าง ๆ ทางสติปัญญา และการปรุงแต่งเสียให้หมดสิ้น กระผมจะเป็นผู้เที่ยงแท้ต่อการบรรลุถึงจุดหมายปลายทางหรือไม่?""

      ข้อความที่เป็นคำถามของศิษย์มีอยู่ ๓ คำ ที่ต้องทำความเข้าใจ, คำแรก "ปฏิบัติทางนี้" หมายถึง การปฏิบัติอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะก็คือ การประจักษ์แจ้งอยู่กับจิตหนึ่ง. คำที่สอง "สติปัญญา" หมายถึง ความรู้จำ รู้คิด รู้ทฤษฎี ไม่ใช่ความรู้แจ้ง รู้จริง. และคำที่สาม "การบรรลุ" หมายถึง การมีความคิดว่า ฉันเป็นผู้บรรลุ ซึ่งเป็นความคิดปรุงแต่งอย่างหนึ่ง; ทีนี้ มาดูคำตอบของท่านฮวงโปกัน.

      ##ประโยคที่ ๒ ""ตอบ..การไม่ใช้สติปัญญาอะไรเลยเช่นนั้น เป็นการปฏิบัติตามทางนี้อยู่แล้ว! ทำไมจะต้องพูดถึงการบรรลุหรือการไม่บรรลุเช่นนี้กันอีกเล่า?""

      ท่านได้ชี้ให้เห็นว่า เมื่อเห็นแจ้งสว่างไสวอยู่กับจิตหนึ่งแล้ว ประพฤติปฏิบัติอยู่อย่างถูกตรงแล้ว ทำไมจึงต้องมีการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุกันอีก ถ้าการปฏิบัตินั้น เป็นไปเพื่อการบรรลุ แสดงว่า ผู้นั้นยังไม่เห็นแจ้งต่อจิตหนึ่ง ยังไม่ประจักษ์ชัดต่อพุทธภาวะจริง ๆ; การบรรลุกับการไม่บรรลุเป็นลักษณะของความคิดที่ยึดติดอยู่ในสิ่งเป็นคู่ ๆ นั่นเอง เรียกว่า คติทวินิยม เช่น บุญ- บาป, สุข- ทุกข์ เป็นต้น.

      ##ประโยคที่ ๓ ""เรื่องมันมีอย่างนี้ คือ: โดยการคิดถึงอะไรบางอย่าง เธอย่อมสร้างความมีอยู่(ของตัวตนอย่างใดอย่างหนึ่ง) ขึ้นมาอย่างหนึ่ง และโดยการคิดถึงความไม่มีอะไร เธอย่อมสร้างความมีอยู่ (ของความไม่มีอะไร) ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง""

      ท่านได้กล่าวถึงคติทวินิยมที่เรียกว่า "ความมีอยู่" กับ "ความไม่มีอะไร" ซึ่งเป็นลักษณะของความสุดโต่ง, ความคิดว่า "มีอยู่" คือ สุดโต่งไปในฝ่ายอัตตา ส่วนความคิดว่า "ไม่มีอะไร" คือ สุดโต่งไปในฝ่ายนิรัตตา แต่ถ้าว่างจากความคิดทั้งสองอย่างดังกล่าวได้ นั่นคือ ความหมายของคำว่า อนัตตา.

      ##ประโยคที่ ๔ ""ขอให้การคิดในทำนองที่ผิด ๆ เช่นนี้ จงสูญสิ้นไปโดยเด็ดขาดเถิด แล้วก็จะไม่มีอะไรเหลืออยู่ให้เธอเที่ยวแสวงหาอีกต่อไป""

      ความคิดว่า "มีอยู่" เรียกว่า สัสสตทิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า เที่ยง เป็นอัตตา ซึ่งเป็นความสุดโต่งไปฝ่ายหนึ่ง, ความคิดว่า "ไม่มีอะไร" เรียกว่า อุจเฉททิฏฐิ คือ มีความเห็นว่า ขาดสูญ เป็นนิรัตตา ก็สุดโต่งไปอีกฝ่ายหนึ่งเหมือนกัน แต่ถ้าว่างจากความคิดที่เป็นความสุดโต่งทั้งสองอย่างนี้ เรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นที่ถูกต้อง. (๑๐ ก. ค.๖๔)

No comments yet...

Leave your comment

82032

Character Limit 400