#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
##ตื่นรู้ เบิกบาน.
##คำสอนของท่านเว่ยหล่าง, หมวดที่ ๑๐, หน้า ๑๔๖; จะนำมาเขียนสัก ๔ ประโยค ดังนี้ :-
##ประโยคที่ ๑ ""สิ่งที่ควรทำก็คือ จงรู้จักจิตของท่านเอง และตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งพุทธะของท่าน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สงบนิ่งและไม่เคลื่อนไหว""
คำว่า จิตกับพุทธะ คือสิ่งเดียวกัน หมายถึง จิตเดิมแท้นั่นเอง, คำว่า "สงบนิ่ง" กับคำว่า "เคลื่อนไหว" เป็นลักษณะของความคิดปรุงแต่ง, สงบนิ่ง คือ ความคิดที่ถูกกดไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ, เคลื่อนไหว คือ ความคิดปรุงแต่งฟุ้งซ่าน; จิตเดิมแท้เป็นสภาวะที่ปราศจากความคิดปรุงแต่งโดยสิ้นเชิง.
##ประโยคที่ ๒ ""เป็นสิ่งที่ไม่เกิดและไม่ดับ เป็นสิ่งที่ไม่มาและไม่ไป เป็นสิ่งที่ไม่รับและไม่ปฏิเสธ เป็นสิ่งที่ไม่คงอยู่และไม่จากไป""
ข้อความดังกล่าวท่านชี้ให้เห็นถึงสภาวะของจิตเดิมแท้ ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ว่างจากความคิดในลักษณะของความปรุงแต่งทุกระดับ; คำว่า เกิด- ดับ, มา- ไป, รับ- ปฏิเสธ, คงอยู่- จากไป เหล่านี้ คือ ลักษณะของความคิดปรุงแต่งที่เป็นคู่ ๆ (คติทวินิยม) เป็นสภาวะที่เรียกว่า สังขตธรรม.
##ประโยคที่ ๓ ""มิฉะนั้นแล้ว จิตของท่านจะถูกครอบงำด้วยความหลงผิด ทำให้ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ฉันทบทวนเรื่องนี้กับท่าน เพื่อให้ท่านสามารถตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต""
คนทั่วไปมักจะมีความเข้าใจว่า กิเลสมีอยู่ในจิตใจตลอดเวลา ซึ่งเป็นความเข้าใจผิดต่อหลักความจริงของธรรมชาติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า จิตใจว่างอยู่ก่อนแล้ว กิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในขณะแห่งผัสสะด้วยอวิชชา.
##ประโยคที่ ๔ ""เมื่อฉันจากไปแล้ว ถ้าท่านทำตามคำสอนของฉันและนำไปปฏิบัติ การที่ฉันจากท่านไป ก็ไม่เป็นข้อประหลาดอย่างใด ตรงกันข้าม ถ้าท่านฝ่าฝืนคำสอนของฉัน แม้ฉันจะอยู่ต่อไป ก็ไม่เกิดคุณประโยชน์อันใด""
ท่านพยายามชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของจิตเดิมแท้ และชี้ให้เห็นว่าการเห็นแจ้งแบบฉับพลันนั้น เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้จริง ถ้าไม่สนใจคำสอนดังกล่าว ท่านบอกว่า จะไม่เกิดคุณประโยชน์อันใดเลย. (๑๓ ก. ค.๖๔)