#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#เต๋าแท้เป็นอมตะ.

      #คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง บทที่ ๑ ขอแบ่งออกเป็น ๘ ประโยค ดังนี้ :-

      #ประโยคที่ ๑ "เต๋าที่ใครก็พูดถึงกันได้นั้น ไม่ใช่เต๋าอมตะ"

      คำว่า อมตะ แปลว่า ไม่ตาย สภาวะที่เป็นอมตะอยู่เหนือคำพูดของมนุษย์ เต๋าก็เป็นเพียงคำบัญญัติ ถ้าเข้าไปยึดติด คำบัญญัตินั้นก็ย่อมปิดบังสัจธรรมแท้ ซึ่งเป็นสภาวะแห่งความไม่ตาย.

      #ประโยคที่ ๒ "อะไรที่ตั้งชื่อได้นั้น ก็ไม่ใช่อะไรที่เป็นนิรันดร นิรันดรจริงๆ นั้น ตั้งชื่อไม่ได้หรอก"

      คำว่า นิรันดร แปลว่า ไม่มีในระหว่าง สัจธรรมที่ไร้ชื่อ เป็นสภาวะที่ไม่มีในระหว่าง ไม่มีการเกิด ไม่มีการดับ เพราะเป็นธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง (อสังขตะ).

      #ประโยคที่ ๓ "ไม่มีชื่อคือ สิ่งถาวรที่ดำรงอยู่มาก่อน"

      สภาวะที่ไร้ชื่อ เป็นธรรมชาติดั้งเดิมของสรรพสิ่งทั้งมวล สิ่งปรุงแต่งต่างๆ เป็นของใหม่ มีลักษณะเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และแตกสลายดับไปเป็นที่สุด จะเรียกว่า เกิด- ดับ หรือเกิด- ตายก็ได้.

      #ประโยคที่ ๔ "พอมีชื่อ สิ่งต่างๆ ที่ไม่ถาวรก็เกิดขึ้น"

      สิ่งที่ไม่ถาวร หมายถึง ความคิดปรุงแต่ง, "ชื่อ" ก็คือ ความคิดปรุงแต่ง เมื่อเกิดความคิดปรุงแต่งที่เป็นชื่อขึ้น ความคิดปรุงแต่งเรื่องอื่นๆ ก็เกิดไล่ตามเข้ามา; สิ่งถาวร คือ สภาวะที่ไม่มีความคิดปรุงแต่ง (อสังขตะ) สิ่งไม่ถาวร ก็คือ ความคิดปรุงแต่ง (สังขตะ).

      #ประโยคที่ ๕ "ถ้าไปให้พ้นชื่อ ก็จะได้เห็นความจริงอันเร้นลับ"

      ธรรมชาติที่ปราศจากความปรุงแต่ง เรียกว่า ความจริงอันเร้นลับ ปุถุชนทั่วไปมองไม่เห็นความจริงอันเร้นลับ ก็เพราะอวิชชาปิดบัง ถูกคำว่า เต๋าที่เป็นชื่อสมมุติขวางกั้นไว้ แต่ผู้มีสติปัญญาไม่ยึดติดในสิ่งใดๆ แม้คำว่า เต๋าที่เป็นคำบัญญัติของมนุษย์.

      #ประโยคที่ ๖ "แต่ถ้ายังติดอยู่กับชื่อ อย่างมากก็ได้เห็นแค่เปลือกนอก"

      ชื่อท่านเปรียบเหมือนกับเปลือกนอก ชื่อมีความหมายที่เรียกว่า ความรู้ที่เป็นปริยัติ ส่วนมากมักจะเข้าไปหลงติดอยู่กับความรู้ที่เป็นปริยัติ เรียกว่า ติดอยู่กับเปลือก ฉะนั้นต้องแกะเปลือกออก แล้วจะพบเนื้อแท้.

      #ประโยคที่ ๗ "แต่ไม่ว่าจะเป็นความจริงอันเร้นลับหรือเปลือกนอก ก็ล้วนเกิดจากรากเหง่าเดียวกัน"

      ทำไมท่านจึงกล่าวว่า ความจริงอันเร้นลับกับเปลือกนอก ล้วนเกิดจากรากเหง่าเดียวกัน? ก็คือ ลักษณะของคู่, ความจริงอันเร้นลับก็เป็นความคิด เปลือกนอกก็เป็นความคิด แต่ความจริงแท้ ว่างจากความคิดเหล่านี้.

      #ประโยคที่ ๘ "รากเหง่านี้เรียกว่า ความลึกล้ำดำมืด ความลึกล้ำดำมืดเป็นปากทางไปสู่การรู้แจ้งเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง"

      ของคู่ที่ว่า ความจริงอันเร้นลับกับเปลือกนอก ท่านใช้คำว่า รากเหง่าอันลึกล้ำดำมืด แต่ถ้าละรากเหง่าอันลึกล้ำดำมืดนี้ได้ ก็จะเห็นแจ้งสรรพสิ่งตามที่เป็นจริง. (๒๓ เม. ย.๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

66249

Character Limit 400