#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

#ความดีสูงสุด.

      คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง (บทที่ ๘) จะแบ่งออกเป็น ๗ ประโยค ดังนี้:-

      #ประโยคที่ ๑ "ความดีสูงสุดเหมือนน้ำ หล่อเลี้ยงทุกสิ่งโดยไม่พยายามทำ"

      ความดีมีอยู่ ๒ ความหมาย คือ ๑) ความดีที่ประกอบด้วยอุปาทาน เป็นความดีที่ไม่บริสุทธิ์ และ ๒) ความดีที่ประกอบด้วยสติปัญญา ซึ่งเป็นความดีที่บริสุทธิ์ ดังนั้นที่ท่านกล่าวว่า ความดีสูงสุดเหมือนน้ำ ก็คือ ความดีที่ประกอบด้วยสติปัญญา.

      #ประโยคที่ ๒ "พอใจที่ต่ำอันผู้คนรังเกียจ น้ำจึงเหมือนเต๋า"

      ผู้เห็นแจ้งต่อสัจธรรม ยินดีในการเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย ซึ่งคนที่มีกิเลสหนาจะไม่ชอบ ธรรมชาติของน้ำไหลซึมเข้ากันได้อย่างง่ายดายในสิ่งแวดล้อมทั้งปวง ผู้เห็นแจ้งเต๋า ย่อมมีความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่ง น้ำจึงเหมือนเต๋า.

      #ประโยคที่ ๓ "ดังนั้นในการเป็นอยู่ให้ติดดิน ในการคิดให้ง่ายเข้าไว้"

      ท่านแนะนำว่า ในการเป็นอยู่ให้ติดดิน ก็คือ ให้เป็นอยู่แบบเรียบง่าย ดังคำกล่าวของผู้รู้ที่ว่า "อยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง" ชีวิตร่างกายอยู่อย่างธรรมดา แต่จิตใจมุ่งสูง ในพุทธศาสนา เรียกว่า พระนิพพาน เหลาจื่อใช้คำว่า เต๋า.

      #ประโยคที่ ๔ "ในความขัดแย้งให้เปิดเผยและใจกว้าง ในการพูดต้องจริงใจ"

      การอยู่ร่วมกัน บางครั้งก็มีการกระทบกระทั่งกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง ถ้ามีความขัดแย้งกัน ท่านแนะนำว่า ให้เปิดเผยและใจกว้าง ผิดก็คือผิด ให้ยอมรับความจริง ตรงไปตรงมา การพูดก็พูดด้วยความจริงใจ ไม่มีอคติใดๆ แอบแฝง.

      #ประโยคที่ ๕ "ในการปกครองอย่าพยายามควบคุม ในการทำงานให้ทำอย่างสนุก"

      การปกครอง ถ้าพยายามควบคุม ผู้ที่ถูกปกครองก็อึดอัด ผู้ปกครองเองก็ตึงเครียด แต่ถ้าปกครองด้วยความเมตตากรุณา ไม่ต้องมีความพยายามเข้าไปควบคุม ทุกฝ่ายก็มีความผ่อนคลาย การทำงานก็สนุกไม่เครียด.

      #ประโยคที่ ๖ "ในชีวิตครอบครัวให้อยู่ด้วยอย่างแท้จริง พอใจกับการเป็นตัวเอง"

      การอยู่ร่วมกันในครอบครัว ให้อยู่กันด้วยความจริงใจ เกี่ยวข้องกันด้วยความรักความเมตตา ที่ว่า พอใจกับการเป็นตัวเอง ก็คือ มีความสันโดษนั่นเอง ยินดีในสิ่งที่ตนได้ พอใจในสิ่งที่ตนเป็น ยินดีกับสถานภาพของตน.

      #ประโยคที่ ๗ "ไม่เปรียบเทียบหรือแข่งขัน ทุกคนก็จะนับถือเจ้าเอง"

      ความรู้สึกเปรียบเทียบที่เกิดขึ้นมาในจิตใจ เรียกว่า มานะ คือ ความถือตัวถือตน รู้สึกว่าเราดีกว่าเขา รู้สึกว่าเราเสมอเขา รู้สึกว่าเราด้อยกว่าเขา ถ้าเกิดขึ้นมาก็ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ ดังนั้นจึงไม่ควรเปรียบเทียบกัน แล้วทุกคนก็จะเคารพนับถือ. (๑๕ มิ. ย. ๖๖)

No comments yet...

Leave your comment

92618

Character Limit 400