#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
วันพระ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐
สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ โภชนมฺหิ อมตฺตญฺญํ กุสีตํ หีนวีริยํ ตํ เว มาโร วาโต รุกขํว ทุพฺพลํ.
มารย่อมย่ำยีคนที่มักปล่อยใจไปกับอารมณ์ที่สวยงาม ไม่สำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ความพอดีในโภชนะ เกียจคร้าน ไร้ความเพียร เหมือนดังต้นไม้ที่อ่อนแอ ต้องโค่นเพราะลมฉันนั้น.
คำว่า “ย่อมย่ำยี” เป็นคำที่กระแทกกระทั้นจิตใจได้เป็นอย่างดียิ่ง, คำว่า "มาร" แปลว่าสิ่งที่ทำให้ตาย มาจาก มรฺ ธาตุ (มรณะ), โดยในที่นี้จะกล่าวถึง "กิเลสมาร" ตามหลักพระพุทธศาสนา "มาร" มี ๕ อย่าง กล่าวคือ
๑. กิเลสมาร มาร คือ กิเลส (กิเลสเป็นมาร เพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี)
๒. ขันธมาร คือ ขันธ์ ๕ (เป็นมารเพราะเป็นสภาพอันปัจจัยปรุงแต่ง มีความขัดแย้งกันเองอยู่ภายใน)
๓. อภิสังขารมาร มาร คือ ความคิดปรุงแต่ง (นำให้เกิด ชาติ ชรา เป็นต้น)
๔. เทวปุตตมาร คือ มารที่มาในรูปแบบของความสวยงาม(เป็นนิมิตแห่งความขัดข้องพะวงอยู่ในกามสุข)
๕. มัจจุมาร มาร คือ ความตาย(ความตาย เป็นมารเพราะเป็นตัวการตัดโอกาสที่จะก้าวหน้าต่อไปในคุณความดีทั้งหลาย
มารเข้ามาในชีวิตของเราทุกวัน มีหลายรูปแบบ มาร คือ กิเลส กิเลสนี้แหละที่ทำให้เราตาย ตายทางร่างกายก็ได้ คือการที่เราไปกระทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เบียดเบียนชีวิตผู้อื่นจนถึงแก่ความตายก็สามารถทำให้เราต้องตายด้วยโทษประหารได้เช่นกัน กิเลสมาร การตายทางจิตใจ คือ ตายไปจากคุณงามความดี ตายไปจากคุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม หรือจะแปลกันง่ายๆ กิเลสมารทำให้จิตใจของเราต้องเป็นทุกข์ หงุดหงิด ฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ปรุงแต่ง นี่คือลักษณะของมาร โดยปกติมารเหล่านี้ไม่ได้ปรากฎขึ้นตลอดเวลา แต่ปรากฎขึ้นเป็นครั้งคราวตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้น คือเกิดขึ้นตามสิ่งที่กระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น ความโกรธ ที่เกิดขึ้นเราแค่โกรธในชั่วระยะหนึ่ง หากเราค่อยๆ สังเกตเมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนความโกรธที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆ บรรเทาและดับลงในที่สุด
การทำหน้าที่ของกิเลส ย่อมย่ำยีคนที่มักปล่อยใจไปกับอารมณ์ในสิ่งที่สวยงาม เพลิดเพลินไปกับความพอใจ ดังนั้นคนที่มีกิเลสครอบงำขณะใดขณะหนึ่งย่อมปล่อยจิตปล่อยใจไปกับอารมณ์ที่สวยงาม คือ มีรูปเป็นอารมณ์ที่เข้ามาในลักษณะของจิตเข้าไปปรุงแต่งเป็นความพอใจ เมื่อเราพอใจในสิ่งที่สวยงามแต่เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ไม่สวยงามไม่น่าพอใจ ความทุกข์ย่อมปรากฎ
การไม่สำรวมอินทรีย์ คือ ไม่ระวัง เป็นผู้ประมาท มารจะเข้ามาย่ำยีผู้ไม่สำรวมอินทรีย์ อินทรีย์ แปลว่าความเป็นใหญ่ ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ สิ่งที่เป็นใหญ่ในการรับรู้ รูป คือตา หูเป็นใหญ่ในการได้ยิน เป็นต้น ดังนั้นหากเราไม่สำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตของเราก็จะเกิดการปรุงแต่งไปเรื่อยๆ ไม่สิ้นสุด ทำให้เกิดเป็นความทุกข์ เรียกว่าเราถูกมารย่ำยี เช่น การที่เราถูกตำหนิ หากเราไม่มีสติในการรับฟัง จิตของเราก็จะคิดปรุงแต่งไม่ดีไปเรื่อยๆ แต่หากเรามีสติสำรวมระวังในการพิจารณาคำตำหนิเหล่านั้นก็สามารถที่จะเป็นขุมทรัพย์ในการพัฒนาตัวเองได้
ความไม่รู้จักพอประมาณในการบริโภค สังเกตง่ายๆ คือตอนที่เราตักอาหาร ตักด้วยความชอบไม่ชอบ อันนั้นอร่อยอันนี้ไม่อร่อย เข้าไปให้ความสำคัญในอาหารต่างๆ เพราะขาดความสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ความเกียจคร้านไร้ความเพียร ตามใจกิเลสไม่เห็นโทษเห็นภัยปล่อยไปตามอารมณ์ เพราะถูกกิเลสครอบงำ เช่น เวลาที่เราพูด เรามักจะหลงเพลินไปในความคิด ในการกระทำ หรือพูดไปเรื่อยๆ เรียกได้ว่าเรากำลังถูกกิเลสนั้นย่ำยีโดยไม่รู้สึกตัว เรียกว่าเป็นผู้ประมาท กิเลสมารเหล่านี้คือความทุกข์ที่ย่ำยีชีวิตและจิตใจของเรา วนซ้ำไปซ้ำมาไม่สิ้นสุด เพราะเราไปยึดติดในรสอร่อยของสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงต้องเพิ่มกำลังของ "สติ" สำรวมระวังอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จะคิด จะพูด จะทำ ให้ตั้งอยู่บนสิ่งที่เรียกว่า "สติ" หากเราไม่ระวังสิ่งที่เป็นอนุสัยหรือความเคยชินก็จะเพิ่มกำลังมากขึ้นโดย "ไม่รู้สึกตัว"