#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม

“ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ”

“ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม”

คนเราเกิดมาในโลกนี้แล้วก็เป็นธรรมดาว่า ต้องพบปัญหาอุปสรรคมากมาย อาทิเช่นปัญหาการทำมาหากิน ปัญหาครอบครัวญาติพี่น้องปัญหาเรื่องลูกเรื่องหลาน เช่น ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ สร้างแต่ปัญหาทำให้พ่อแม่ต้องเดือดร้อน เป็นต้น ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ เป็นเหตุให้เกิดความทุกข์กับชีวิตของเรา

มีพุทธภาษิตว่า อธรรมย่อมนำไปนรก ธรรมย่อมนำให้ถึงสุคติ

คือคนประพฤติชั่วย่อมทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ส่วนผู้ประพฤติธรรมย่อมได้รับความสุข ยกตัวอย่างในเรื่องการทำงาน บางคนต้องเป็นทุกข์กับการที่ต้องทำการงานหาเลี้ยงชีพคนเราต้องทำมาหากิน และต้องมีความทุกข์ตามธรรมชาติของมันอย่างนั้น จึงต้องมีความรู้เรื่องธรรมะทีจะขจัดความทุกข์

ในขณะที่ทำมาหากินคนมีปัญญา หาเงินก็ไม่มีความทุกข์ ได้เงินมาก็ไมามีความทุกข์ บริโภคใช้สอยก็ไม่มีความทุกข์ เพราะเขาประพฤติธรรม จึงมีธรรมะมาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาส่วนคนโง่นั้นมีแต่ความทุกข์ทุกขณะ ตั้งแต่หาเงินอยู่ก็หิว ทรมานใจ กำลังได้เงินมาก็ทรมานใจ ได้มาแล้วก็ทรมานใจ

ถ้าอย่างนี้ก็เรียกว่า ไม่มีธรรมะมาเป็นเครื่องคุ้มครองชีวิตนี่ก็ลองคิดดูว่า ธรรมะ จำเป็นอย่างไร ถ้ายังมีทุกข์ก็เพราะไม่มีธรรมะ นี่เป็นเหตุผลว่า

ทำไมต้องมีธรรมะ  มีบทกลอนบทหนึ่งว่า

“ธรรมเท่านั้น กันตน ให้พ้นผิด    ธรรมเท่านั้น กันจิต ไม่ให้เขว
ธรรมเท่านั้น กันโลก ไม่ให้เซ     โลกไม่เป๋ เพราะธรรมป้อง คุ้มครองคน”

“ธรรมเท่านั้นกันตนให้พ้นผิด” ความผิดนั้น เริ่มต้นมาจากการเห็นผิด คือมีความเห็นที่ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ที่เรียกว่ามีมิจฉาทิฏฐิ เมื่อมีความเห็นผิด ก็นำไปสู่ความคิดที่ผิด แล้วก็พูดผิด ทำผิดตามไปด้วย เช่นเรื่องการทำความดี มีคำพูดว่า “ทำดีไม่ได้ดี ทำดีไม่มีคนเห็น แล้วจะทำไปทำไม ”  แต่ในทางพุทธศาสนานั้น ทำดีไม่ต้องรอให้ใครเห็น เพราะเมื่อเราได้ทำความดีแล้ว ก็เป็นความดีอยู่ในตัว ใครจะเห็นหรือไม่เห็นไม่สำคัญ อย่างน้อย ๆตัวเรานั่นแหละที่เห็น

“ธรรมเท่านั้นกันจิตไม่ให้เขว” ด้วยการปฏิบัติธรรม คือพยายามระมัดระวังในขณะที่เกิดผัสสะ คือการกระทบสัมผัสต่ออารมณ์ทั้งหลาย

เช่น เมื่อ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องสัมผัส ใจกระทบกับธรรมารมณ์แล้ว ให้มีสติคุ้มครองไม่ให้ยินดี ยินร้าย คิดนึกปรุงแต่งไปตามความชอบหรือความชัง มีสติจะคุ้มครองจิต ไม่ให้เกิดการปรุงแต่งเป็น เวทนา ตัณหา อุปาทาน ความยึดมั่น ถือมั่น จนนำไปสู่การเกิดภพ ชาติ และการเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวง

สรุปความว่า ธรรมนั่นแหละย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม โดยการที่เรามีสติ รู้เท่าทัน ในขณะที่กระทบต่ออารมณ์ที่เข้ามา มีปัญญารู้ชัดว่า นี่ก็สักแต่ว่าผัสสะ หรือเมื่อเกิดเวทนาแล้ว ก็ให้รู้ชัดว่า นี่ก็สักแต่ว่าเป็น เวทนา อย่างนี้ นั่นแหละจึงจะเรียกได้ว่าเป็นผู้ประพฤติธรรมและธรรมะนั้นก็จะตามรักษาบุคคลนั้น ไม่ให้เกิดความทุกข์ขึ้นมาได้ นั่นเอง

No comments yet...

Leave your comment

61284

Character Limit 400