#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

“อิทัปปัจจยตากถา”

โดย: Soranat Amsri
ชอบ: (0)
ไม่ชอบ: (2)
Created: 20 Mar 2019

 อิทัปปัจจยตากถา 

คำสอนในพระพุทธศาสนา ได้รวบรวมเก็บไว้ใน ปิฎกสาม หรือ ที่เรียกว่า

พระไตรปิฎกซึ่งเป็นที่รวบรวมพระธรรมวินัย 3 หมวด อันได้แก

1.     พระวินัยปิฎก คือ พุทธบัญญัติเกี่ยวกับข้อปฏิบัติของพระสงฆ์

 2.    พระสุตันตปิฎก คือ การประมวลพุทธพจน์หมวดพระสูตร พระธรรมเทศนา

 3.    พระอภิธรรมปิฎก คือ การกล่าวถึง พระธรรมล้วน เช่น เรื่อง รูป จิต เจตสิก และ นิพพาน

พระพุทธเจ้าสอนให้เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยการเข้าใจกฎธรรมชาติ เข้าใจเรื่องการเกิดทุกข์ และการดับทุกข์  และกระแสของการเกิดและดับแห่งความทุกข์นั้นก็เป็นไปตาม กฏ  อิทัปปัจจยตา  คือ

เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี          เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี  เพราะสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้จึงดับไป

กฏอิทัปปัจจยตา เป็นกฏธรรมชาติ ซึ่งข้องเกี่ยวกับมนุษย์ทุกคน และเกี่ยวพัน

กับชีวิตประจำวันของเราโดยตลอด จะขออธิบายง่ายๆ อาทิเช่น

 เพราะมีพ่อแม่ เราจึงมี - เพราะมีเรา เราได้คู่ครอง ลูกเราจึงมี นี่คือ กฏเพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี

 อีกตัวอย่างหนึ่ง คือ เด็กที่เรียนหนังสือแล้วได้ประสบความสำเร็จนั้น ก็ต้องมีเหตุปัจจัยพรั่งพร้อม เช่น มีผู้ปกครองดี สภาพแวดล้อมดี สมองดี

ครูดี ฯลฯ เรียกว่าเมื่อมีเหตุปัจจัยถึงพร้อมแล้ว นี้ก็คือ กฎที่ว่า 

เพราะมีสิ่งนี้ เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  หรือ  เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น

 หรือในทางตรงกันข้าม เด็กที่บ้านยากจน พ่อแม่ไม่มีเงินทองส่งเสียลูก แม้มีสมองดี แต่ก็ไม่มีโอกาสจะสำเร็จในการศึกษาให้สูงยิ่ง ๆขึ้นไปได้

นี่คือกฏเพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มีเป็นต้น

ความทุกข์จะเกิดหรือไม่เกิดขึ้น ก็อยู่ที่การทำถูกหรือทำผิดต่อ กฏอิทัปปัจยตา 

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เรื่องของธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง เช่นเรื่องฝนตกใครเป็นทุกข์? ฝนตกลงมา 

เราอาจตอบว่า แม่ค้าที่ค้าขายสิเป็นทุกข์ หรือคนที่ตากผ้าสิเป็นทุกข์ แต่จริง ๆแล้ว แม่ค้าหรือ

คนที่ตากผ้าไม่ทุกคนหรอกที่เป็นทุกข์ คือบางคนก็รู้สึกเป็นทุกข์แต่บางคนก็ไม่ ถ้าตอบตามหลักธรรมแล้ว  ถามว่า ฝนตกใครเป็นทุกข์ ตอบว่า

คนที่ไม่อยากให้ฝนตก นั่นแหละคือคนที่เป็นทุกข์ หรือคือคนที่มีตัณหานั่นแหละต้องเป็นทุกข์

หรือแม้แต่เรื่องของความเป็นธรรมดาในชีวิตคนเรา ก็คือเรื่อง การแก่ การเจ็บ การตาย ก็เช่นเดียวกัน คือคนที่เกิดมาแล้ว ก็ไม่อยากจะแก่ เจ็บ ตาย แต่เมื่อกฎเกณฑ์ของความเป็นธรรมดาตามธรรมชาตินั้นมาถึง  คือต้องแก่ เจ็บ ตาย คนที่ไม่อยากแก่ ไม่อยากเจ็บ ไม่อยากตายก็จะต้องเป็นทุกข์ เพราะยอมเข้าใจกฏเกณฑ์ของธรรมชาตินั้น  

ดังนั้น หากเราอ่านกฎเกณฑ์ของธรรมชาตินี้ออก และ ตระหนักรู้ถึงกฎนี้ที่อยู่เหนือเราแล้วก็วางจิตวางใจให้ถูกต้อง รวมถึงการใช้สติปัญญาในการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่อง  อิทัปปัจจยตา ให้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เช่นนี้แล้วทุกท่านก็จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการใช้ชีวิตในประจำวันของเราให้เกิดประโยชน์สุขได้อย่างแท้จริง 

เรียบเรียงธรรมเทศนา โดย ลลิต มณีธรรม

No comments yet...

Leave your comment

17994

Character Limit 400