#สัจจะไร้สิ่งคู่.

#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.

“คุณค่าแห่งการปฏิบัติธรรม”

โดย: Lita De Pran
ชอบ: (0)
ไม่ชอบ: (0)
Created: 27 Mar 2019

การปฏิบัติธรรมมีจุดมุ่งหมาย 2 ระดับ คือ

 1.  ระดับศีลธรรม โดยมุ่งประโยชน์ เพื่อสร้างความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันเพื่อความสงบร่มเย็นในสังคม

 2.  ระดับปรมัตถธรรม โดยมีจุดมุ่งหมาย เพื่อสันติสุขในส่วนบุคคล ทำความเพียรให้จิตใจสงบ สะอาด สว่าง หรือ เรียกว่า จิตว่าง คือ นิพพาน นั่นเอง ทั้งนี้การประพฤติธรรมในระดับปรมัตถธรรม ต้องอาศัยการฝึกอบรม 

มีคำกล่าวว่า จิตนี้ประภัสสร คำว่าจิตประภัสสรคือ จิตที่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง สงบ เป็นความว่าง โดยว่างจากกิเลส หรือความทุกข์ทั้งปวง  และอยู่ภายใต้กฎของไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา  ตัวอย่างเช่น เมื่อความโกธรเกิดขึ้นแล้วรู้สึกเป็นทุกข์ขึ้นแต่ในที่สุดความโกธรนั้นก็ไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง และก็จะจางคลาย เสื่อมสลายหายไปในที่สุด  นี่เรียกว่า เป็นอนิจจังคือความไม่เที่ยง  เป็นอนัตตาคือ ความไม่ใช่ตัวตน คือหาความเป็นตัวตนของความโกธรนั้นไม่ได้

ลักษณะประเภทของจิตประภัสสร มีคำอธิบายได้ดังนี้

 1.  จิตประภัสสรที่ไร้เดียงสา” (เดียงสาแปลว่า ปัญญา) คือ ไม่มีสติปัญญาที่เป็นเครื่องป้องกันกิเลส พอมีอะไรมากระทบอารมณ์ กิเลสก็เกิดในทันที จึงเป็นจิตที่ขาดการคุ้มครองรักษา ยังไม่เห็นแจ้ง คือ ไร้เดียงสา อันเป็นจิตของปุถุชนเรานั่นเอง

 2. จิตประภัสสรที่มีเดียงสาคือ ประกอบด้วยปัญญา มีสติปัญญาเป็นเครื่องป้องกันกิเลส ไม่มีความทุกข์ มีการฝึกฝนด้วยการเห็นแจ้ง จิตว่าง เห็นแจ้งพระนิพพาน มีความระมัดระวังไม่ให้กิเลสเข้ามาสู่จิตใจได้

บุคคลที่มีเดียงสาแล้ว มีหลายระดับ คือ

 2.1 ระดับโสดาบัน คือ ผู้ที่มีสติปัญญาในระดับหนึ่ง ที่เห็นแจ้งจิตประภัสสร แต่กำลังของสติ  ปัญญาไม่แข็งแรงพอ ซึ่งทำให้กิเลสยังสามารถครอบงำได้บ้างเล็กน้อย

 2.2 ระดับสกทาคามี คือ ผู้มีสติปัญญาที่แหลมคมขึ้นมาอีก แต่ก็ยังพ่ายแพ้ต่อกิเลสในชั้นละเอียด

 2.3 ระดับอนาคามี คือ ผู้มีสติปัญญาที่พัฒนาสูงขึ้นมาอีก คือพยายามประคองรักษามิให้กิเลส    เข้ามาสู่ตนได้

 2.4 ระดับอรหันต์ คือ ผู้ที่มีสติสัมปชัญญะครบบริบูรณ์ กิเลส ไม่สามารถเข้ามากระทบได้

สิ่งที่เรียกว่ากิเลสคือ อะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง เกิดขึ้นมาได้เพราะมีผัสสะคือการกระทบสัมผัส เช่น  เมื่อ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เรียกว่าอายตนะภายใน  กระทบสัมผัสกับ อายตนะภายนอก  คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สัมผัสทางกาย) ธรรมมารมณ์ (สิ่งที่ใจคิดนึกรู้สึก) ทำให้เกิดวิญญาณ (การรับรู้) คือ ได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้สัมผัสทางกาย ได้รู้สึกความคิดนึกทางใจ ความประจวบกันแห่งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก และวิญญาณ ทำให้เกิดกระบวนการรับรู้ 

นี้รวมเรียกว่า  ผัสสะ 

ผัสสะ เป็นปัจจัยให้มีความรู้สึก  เรียกว่าเวทนาแบ่งออกเป็น

 .  ทุกขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ไม่น่าปรารถนา ไม่พอใจ

 .  สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่น่าปรารถนา น่าพอใจ

 .  อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่

เวทนา เป็นปัจจัยให้มีตัณหาคือ ความทะยานอยาก, ความต้องการ และเมื่อเกิดตัณหาแล้วเราไปให้ค่าของสิ่งที่มากระทบ ด้วยการย้ำคิดย้ำทำจึงเกิดอุปาทานขึ้นมา

อุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่นความยึดมั่นถือมั่นนี้จะเป็นปัจจัยให้มีภพท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวว่าภพ คือ ตัวกู

(กูคือความรู้สึกภายใน) เมื่อมีสิ่งที่เรียกว่าภพความทุกข์ก็เกิดขึ้น อาการที่ความทุกข์เกิดขึ้น เรียกว่าชาติ ทำให้จิตใจเหน็ดเหนื่อยกระวนกระวาย ไร้ความสุข เป็นจิตไร้เดียงสา ไม่มีสติปัญญาดูแลคุ้มครองเมื่อเกิดผัสสะด้วยอวิชชาครอบงำ

เกิดเวทนา-เกิดตัณหา - เกิดอุปาทาน คิดปรุงแต่งจิตใจไม่เป็นสุข ทำให้เกิดทุกข์ในที่สุด

สำหรับจิตประภัสสร ระดับอรหันต์นั้น คือ ไม่มีกิเลส ไม่มีอาสวะ ไม่มีอนุสัย พระอรหันต์ไม่มีผัสสะ  -ไม่มีเวทนา -ไม่มีตัณหา

หากแต่ จิตประภัสสรของพระอรหันต์นั้น ประกอบไปด้วยสติปัญญา บริบูรณ์ด้วยสติปัญญาเห็นแจ้ง เป็นจิตว่างไม่มีอัตตาตัวตนทั้งสิ้น 

สิ่งเหล่านี้เป็นของว่างเปล่า คือไม่มีความหมายแห่งความเป็นตัวตน ดังเช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่าขันธ์ 5 เป็นอนัตตา

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ  ไม่มีอัตตาตัวตน คือว่างความว่าง คือสุญญตา

ซึ่งเป็นความว่างที่ไม่ตาย อันเป็นหัวใจของพุทธศาสนา

เรียบเรียงธรรมเทศนา โดย ลลิต มณีธรรม

No comments yet...

Leave your comment

21973

Character Limit 400