#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง อิทัปปัจจยตา (ตอนที่ ๑ ในมุมมองแบบง่ายๆ)
เรื่อง อิทัปปัจจยตา (ตอนที่ ๑ ในมุมมองแบบง่ายๆ)
ดังคำสอนในหลักอิทัปปัจจยตา คือ กฎของธรรมชาติ ที่ว่าด้วยเรื่องเหตุ-ปัจจัย, เมื่อสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น, เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้ย่อมมี, เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ย่อมไม่มี, เมื่อสิ่งนี้ดับไป สิ่งนี้ย่อมดับไป
กฎอิทัปปัจยตา คือ กฎของธรรมชาติ -เมื่อเหตุปัจจัยเป็นแบบหนึ่ง – ผลก็ต้องเป็นแบบหนึ่ง, เมื่อเหตุปัจจัยเปลี่ยนไป - ผลก็ต้องเปลี่ยนไป.
พระพุทธองค์ ทรงเน้นคำสอนเรื่อง ความทุกข์เกิดขึ้นมาจากอะไร สมดังพระบาลี บทนี้ “อิติ โข ปเณตํ อานนฺท เวทนํปฏิจฺจ ตณฺหา ตณฺหํ ปฏิจฺจ ปริเยสนา ปริเยสนํ ปฏิจฺจ ลาโภ ลาภํ ปฏิจฺจ วินิจฺฉโย.” พระองค์ตรัสแก่พระอานนท์ ว่า “ดูก่อนอานนท์ ข้อนั้นเป็นอย่างนี้ เพราะอาศัยเวทนาจึงเกิดตัณหา เพราะอาศัยตัณหาจึงเกิดการแสวงหา เพราะอาศัยการแสวงหาจึงมีการได้ เพราะอาศัยการได้ จึงมีการปลงใจรัก” ซึ่งพระบาลีบทนี้ กำลังบอกต้นเหตุว่าทำไมเราจึงไปหลงรักสิ่งต่างๆ นั่นเอง
ด้วยเริ่มต้นจาก คำว่า “เวทนา” ซึ่งเราท่านให้ความหมาย “เวทนา แปลว่า น่าเวทนา น่าสงสาร” ซึ่งเป็นความหมายที่คลาดเคลื่อนไปจากภาษาบาลี อันคำว่าเวทนานี้ หมายความถึง ความรู้สึกทางระบบประสาท เช่น เรานั่งเป็นเวลานานจึงปวดเมื่อย เป็นต้น
เรามาทำความเข้าใจ “เวทนา” ตามพระสูตรให้ถ่องแท้ ว่าด้วย “เวทนา” มี ๓ ความหมายอันได้แก่
๑.สุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ทำให้เรารู้สึกสบาย
๒.ทุกขเวทนา คือ ความรู้สีกที่เราไม่สบาย
๓.อทุกขมสุขเวทนา คือ ความรู้สึกที่ยังไม่แน่ ว่าทุกข์ หรือสุข
สิ่งทั้งหมด ที่เรารับรู้ ผ่าน ตา หู จมูก ลิ้น กาย นั้น เราควรพึงสังเกตความรู้สึกของตัวเราเอง เช่น หากสัมผัสกับความสบาย เราจะรับเข้ามา แต่ความรู้สึกที่เราไม่สบาย เราจะผลักไสออกไป ดังนั้นเวทนาจึงเป็นปัจจัยให้เกิด “ตัณหา”
อันคำว่า ตัณหานั้น เป็นอย่างไร เราทั้งหลาย มีความอยากในเรื่องอะไรบ้าง?
๑. กามตัณหา คือ ความอยาก ในเรื่องของกาม
๒. ภวตัณหา คือ ความอยากมีที่จะเป็น เช่น มีลูกที่ดี มีเงินทอง มีอำนาจ มีคำสรรเสริญมาสู่ตน
๓. วิภวตัณหา คือ ความอยากที่จะไม่มีไม่เป็น เช่น รับของขวัญที่เราไม่ชอบ พบเจอสิ่งที่ไม่ชอบ
สมดังพระบาลีว่า “เพราะอาศัยตัณหา จึงเกิดการแสวงหา”
คนเรานั้นแสวงหาทุกสิ่งอย่างมากมาย ตั้งแต่วัยเด็กวัยรุ่น เราแสวงหาของเล่นที่ถูกใจ พอเป็นวัยผู้ใหญ่วัยทำงาน เราแสวงหาการงานที่ดีได้คู่ครองที่ดี วันเกษียณอายุเราแสวงหาความมั่นคงของสุขภาพ เป็นต้น ทั้งหมดทั้งปวงมาจากการแสวงหาทั้งสิ้น รวมถึงการกล่าวคำพูดที่ทำร้ายผู้อื่นเพราะเราแสวงหา สนองตัณหาเราจึงทำให้ผู้นั้นทุกข์เพราะคำพูดเรา ซึ่งสิ่งนี้เกิดขึ้นตลอดเวลา
ขอกล่าวถึง การแสวงหาบุญ บางท่านเพียรทำสิ่งที่ดีงามด้วยความอยากได้ในระดับสูงขึ้น จึงแสวงหาบุญ ด้วยการทำบุญ การบริจาค ที่เกิดขึ้นในเมื่อไทยขณะนี้ เช่น ซองผ้าป่า กฐิน สร้างเจดีย์ สร้างวัดที่ใหญ่โตสวยงาม แต่หากพิจารณาแล้ว จะเห็นว่า การแสวงหานั้นพึงควรใช้สติปัญญา อาทิเช่น การแสวงหาความสงบในการทำความเพียรในระดับหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นการแสวงหาสิ่งที่ดีแก่ใจตน แต่หากเราแสวงหาความสงบมากเกินไปอาจทำให้เราต้องขาดสติเมื่อต้องพบเจอความวุ่นวายของชีวิตจริง ลองพิจารณาดูว่า “ต้นไม้ก็ต้องการความสงบ แต่สายลมนั้นมิเคยหยุดพัก” ต้นไม้จึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่เฉกเช่นความสงบ แต่สิ่งต่างๆ นั้น ไม่เคยหยุดที่จะโชยเข้ามากระทบเรา”
“ความแสวงหาเป็นเหตุเป็นปัจจัย ทำให้เราปลงใจรัก” ในพระบาลีใช้คำว่า “วินิจฉโย” คือ วินิจฉัยท่านอาจารย์พุทธทาส ให้ความหมายว่า “ปลงใจลงไปอย่างนั้นทั้งหมดทั้งสิ้น” “(ปลงใจรัก นั่นเอง) นอกจากนี้มีอีกคำหนึ่งที่น่าสนใจคือคำว่า “อภินิเวสาย” (แปลว่า นิเวศ คือการฝังตัว รวมความหมายคือ การฝังตัวลงไปอย่างยิ่ง หรือ การยึดมั่นถือมั่นนั่นเอง)
ทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ขบวนการที่เกิดขึ้น ในเรื่องของจิต คือ ความรู้สึกทางระบบประสาทเป็นปัจจัยให้เกิดความอยาก, ความอยากเป็นปัจจัยให้เกิดการแสวงหา, การแสวงหาเป็นปัจจัยให้เกิดการได้, การได้เป็นปัจจัยให้เกิดการปลงใจรักในที่สุด
หากท่านทั้งหลายเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้แล้ว ท่านจะเข้าใจว่า ทำไมจึงมีคนพูดจาเสียดแทง ทำไมมีคนกระทำการคดโกง ทำไมบางคนทำร้าย-ฆ่าชีวิตผู้อื่น ทำไมเขาถึงต้องทำอะไรที่กระทบสิทธิของเรา ฉะนั้นเราท่านทั้งหลายพยายามทำความเข้าใจผู้อื่นในมุมมอง “อิทัปปัจจตยา” ให้ถ่องแท้ตามที่กล่าวมานี้เถิด แล้วเราจะเข้าใจตัวเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง.
เรียบเรียงธรรมบรรยาย โดย ลลิต มณีธรรม.