#สัจจะไร้สิ่งคู่.
#คัมภีร์ เต๋า เต๋อ จิง.
เรื่อง. อิทัปปัจจยตา ตอนที่ ๒. (ตาข่ายฟ้า มิอาจเล็ดรอด)
เรื่อง. อิทัปปัจจยตา ตอนที่ ๒. (ตาข่ายฟ้า มิอาจเล็ดรอด)
ทุกอย่างเกิดขึ้นตามเหตุปัจจัย เราไม่ควรไปปรุงแต่ง ว่า “ดีหรือไม่ดี” จึงชื่อว่าเราเห็นโลกตามความเป็นจริง และ ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งกระทบที่เข้ามายั่วเย้าจิตใจ เช่น ทรัพย์สินเงินทอง ท่านพุทธทาส ได้บรรยายเรื่องนี้ บ่อยครั้ง ว่า “บางคนมีเงินฝากในธนาคาร แต่สำหรับคนที่ไม่มีธรรมะ เงินเหล่านั้นกลับกลายมาอยู่บนหัวของเรา” ทำให้เราร้อนรุ่มทำให้เราหนัก เพราะพึงคิดว่า จะเอาเงินนั้นไปทำอะไรให้เพิ่มพูนขึ้นอย่างไร เป็นต้น ในความเป็นจริงเราไม่ควรให้เงินมาเป็นนายเรา แล้วนำพาชีวิตเราเป็นสำคัญอันดับแรก
มีสุภาษิตจีน กล่าวว่า “ตาข่ายฟ้า มิอาจเล็ดรอด” ในความเป็นจริง “ตาข่าย” ต้องมีสิ่งเล็ดรอดออกมาได้ แต่ “ตาข่ายฟ้า มิอาจเล็ดรอด” นี้ น่าสนใจ เพราะเป็นตาข่ายฟ้า ซึ่งสื่อความหมายถึงกฎของธรรมชาติ ว่า “ทุกสิ่งเกิดขึ้น ตามเหตุปัจจัย, หากเหตุปัจจัยอย่างหนึ่ง ผลจะเป็นอย่างหนึ่ง หากเหตุปัจจัยเปลี่ยน ผลก็ต้องเปลี่ยน” ซึ่งไม่มีอะไรเล็ดรอดไปได้แต่แล้วอะไรที่เป็นเหตุให้เกิดสิ่งเล็ดรอดออกจากตาข่ายนี้?
สิ่งนั้นคือ คำว่า “สุญญตา” แปลว่า ความว่างคือไม่มีอะไร บุคคลทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า “ว่าง” มันก็จะใช้ความคิดเข้าไปจับ แล้วก็กลายเป็นการปรุงแต่งขึ้นมาว่าความว่างเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ดังนั้นจึงไม่ควรพยายามใช้ความคิดเพื่อหาความเข้าใจกับความว่าง สิ่งที่เล็ดรอดออกไปจากตาข่าย คือ “ความว่างจากความรู้สึกว่าฉัน ของฉัน ว่างจากกิเลสที่เกิดจากอัตตา” ( และเมื่อมีอัตตา สิ่งต่าง ๆ จึงมี จึงเกิดขึ้นมาเต็มไปหมด)
เมื่อเรารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ “มี” เราจึงติดอยู่ ดิ้นอยู่ในตาข่าย “ซึ่งยิ่งดิ้น ตาข่ายยิ่งรัดเข้ามามากขึ้น”
คำว่า “รัด” บาลีคือ โยชน หมายถึงการร้อยรัดมัดทั่วอยู่ เช่นคำว่า ประโยชน์ (ปะ แปลว่า ทั่ว)
รวมความหมายว่า สิ่งที่เข้ามาร้อยรัดเราไว้ทั่ว ฉะนั้นเราจึงควรสำรวจชีวิตของเราว่าเราแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบใดกันบ้าง เช่น ทรัพย์สิน เงินทอง หรือ แสวงหาธรรมะ, ธรรมะก็สามารถร้อยรัดเราได้ ธรรมะมีทั้งในมุมที่ดี และในมุมที่มาทำร้ายเราให้เกิดทุกข์ ซึ่งเป็นกิเลสชั้นละเอียด เช่น การมุ่งแสวงหาธรรมะแบบอยากเป็นคนดี อยากมีศีล อยากทำภาวนา เช่นนี้เป็นต้น ทำให้เกิดทุกข์จากการร้อยรัด ดังนั้น “หากเราทำอัตตา ให้เล็กลงๆ ตาข่ายก็จะมีผลต่อเราลดลงๆ จนมาทำอะไรเราไม่ได้อีกต่อไป”
ตาข่ายฟ้า คือ กฎของธรรมชาติ ไม่มีอะไรที่รอดไปได้ นอกจากความว่าง ด้วยเพราะแทรกซึมในทุกสิ่งไม่มีข้อยกเว้นหากท่านปล่อยชีวิตให้ผ่านไปตามกาลเวลาโดยไม่ได้มุ่งทำความเข้าใจกับความว่าง จึงนับเป็นสิ่งที่น่าเสียดายยิ่งเพราะตาข่ายมันจะรัดเรามากขึ้นๆ ดังนั้นท่านทั้งหลายพึงพิจารณาว่า เรากำลังติดตาข่ายตรงไหน ที่ทำให้ชีวิตต้องเหนื่อยเพียงนี้ และไปจบลงที่ความทุกข์ทั้งหมดจึงเป็นคำกล่าวที่น่าคิดยิ่ง ซึ่งถือเป็นความลับของชีวิตที่ควรน้อมนำมาสู่ตน เพื่อท่านจะได้พบความสงบ ความว่างในที่สุด
เรียบเรียงธรรมบรรยาย โดย ลลิต มณีธรรม.